เปิดรับบริจาค และจะมีพิธีส่งมอบหน้ากากและทุนทรัพย์ส่งต่อให้ทปอ.ส่งมอบต่อไป พร้อมเสนอ 3 แนวทางให้พี่น้องชาวเหนือในพื้นที่วิกฤติฝุ่นดูแลตนเอง ห่วงหน้ากากฯยังไม่มีสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.62 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.ได้จัดกิจกรรม “รวมน้ำใจ แบ่งปันหน้ากากอนามัย ต้านภัยฝุ่น” เพื่อส่งมอบกำลังใจ หน้ากากอนามัยN95และทุนทรัพย์ ในช่วยเหลือผู้ประสบภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเปิดรับบริจาคจาก คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา สจล. และประชาชนที่มีความประสงค์ทั่วไป สามารถร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย ผ่านบัญชีธนาคารของสถาบันฯ เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า โดยได้รับการตอบรับ และสนับสนุนที่ดีจากสาธารณชน ทั้งนี้ สจล. จะมีพิธีส่งมอบหน้ากากอนามัยและเงินช่วยเหลือไปยัง ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. เพื่อนำส่งต่อไปยังพื้นที่ที่จำเป็นต่อไป
สำหรับแนวทางการดูแลตัวเองของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีดังนี้
1. สวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละออง PM 2.5 ควรหมั่นเปลี่ยนชิ้นใหม่ทุกวัน โดยไม่ควรใช้ซ้ำติดกันนานเป็นเวลาหลายวัน
2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างๆ ควรประกาศให้ยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ
3. เพิ่มมาตรการห้ามก่อควันในพื้นที่ประสบภัย และขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ดูแลโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณโดยรอบน้อยที่สุด เช่น มีตาข่ายกันพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละออง
ในขณะนี้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานขั้นวิกฤติ ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ ตากและน่าน สาเหตุหลักมาจากปัญหาไฟป่า หมอกควันจากพื้นที่แนวชายแดน และการลักลอบเผาป่าทั้งในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับการที่กำลังลมในพื้นที่อ่อนแรงลง อากาศปิดและลมสงบ จึงส่งผลกระตุ้นให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษา เล็งเห็นว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มีกว่า 3,200,000 คน ที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จะเป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยรถสาธารณะและใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงหน้ากากอนามัย N95 ที่ใช้ป้องกันฝุ่นนั้นไม่ได้ออกแบบให้รับกับสรีระใบหน้าของเด็กส่งผลให้ป้องกันได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ