ทักษะการคิดอย่างวิทยาศาสตร์สามารถปลูกและปั้นได้ในตัวเยาวชน โดยต้องเริ่มส่งเสริมการเรียนรู้ ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะการรู้จักคิด วิเคราะห์ หาข้อมูล วางแผนและแก้ปัญหานี้เองที่ช่วยสร้างความก้าวหน้าเสริมภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตที่เข้มแข็งในโลกแห่งการแข่งขันยุคดิจิทัลซึ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทิศทางการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยจึงต้องปรับให้ทันรับมือกับสังคมและโลกที่เปลี่ยนไป และเตรียมกำลังคนคุณภาพรุ่นใหม่ เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ก.ศึกษาธิการ กล่าวถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในงานเสวนา “สสวท.ปั้นนักคิด วิทย์สร้างภูมิ (คุ้มกัน)” ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปี 61 ที่เมืองทองธานี ว่า ต้องสร้างเด็กไทยให้เป็น “นักคิด” ที่มีทักษะวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน แก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ โดยยังคงคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวของโลกยุคดิจิทัล หรือ สร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต
พื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กไทยจึงต้องมีทักษะของวิทยาการคำนวณ (Computing science) มิใช่เรียนรู้แค่ใช้คอมพิวเตอร์แค่ขั้นพื้นฐาน(USER) เท่านั้น แต่จะได้กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนได้ ประกอบด้วยการคิดเชิงคำนวณ ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารซึ่งเป็นทักษะรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
ขณะที่ชั้นเรียนของเด็กยุคใหม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงใจผู้เรียน สสวท. จึงได้พัฒนาลูกเล่นของหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์สร้างความเข้าใจและเข้าถึงผู้เรียนได้ง่ายขึ้น โดยนำAR (Augmented Reality) มาอธิบายเนื้อหาที่เป็นนามธรรมซึ่งต้องใช้จินตนาการช่วยสร้างความเข้าใจ เช่น ภาพเสมือน3มิติ นอกจากจะดึงดูดความสนใจแล้วเด็กๆ ยังได้ฝึกใช้เทคโนโลยีศตวรรษที่ 21อีกด้วย
สสวท.ยังได้สร้างโมเดลนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ขับเคลื่อนไทยด้วยนวัตกรรม ผ่านโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยบัณฑิตจากโครงการนี้จะเข้ามาเป็นพลังของประเทศเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ต่อยอดการพัฒนาเชิงพาณิชย์
“ในประชากร100คน มีคนที่คุณสมบัติเหมาะเป็นนักวิทยาศาสตร์ 1คน ถ้าเราหาเขาเจอ ต้องบ่มเพาะให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนสู่สายงานอาชีพอย่างเต็มศักยภาพ คนกลุ่มนี้เป็นทรัพยากรที่หาได้ยากยิ่งกว่าน้ำมัน
นโยบายไทยแลนด์ 4.0จะเดินหน้าสำเร็จได้ต้องหาคนกลุ่มนี้ให้พบและสร้างให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมโอกาสให้สร้างนวัตกรรม สสวท.จึงมีหน้าที่สำคัญในการจัดทำหลักสูตรให้คนกลุ่มนี้ ช่วยหาโอกาสและสนับสนุนการเรียน การวิจัย เพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมให้สอดรับกับเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศ”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ