“หมอธี”จี้ ผอ.สพท.ลงตรวจสภาพปัญหา รร.ขนาดเล็ก รายงานผลทุกสัปดาห์ ย้ำเป็นตัวชี้วัดผลงาน
วันที่ 31 ม.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง รับฟังรายงานผลการศึกษาสภาพจริงของโรงเรียนขนาดเล็ก ใน จ.แม่ฮ่องสอน ว่าจากที่ได้รับฟังข้อมูลการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 15,000 โรงเรียน พบว่าแต่ละแห่งมีปัญหาคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ตนจึงได้ให้นโยบายการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก อย่างแรกต้องเข้าใจว่า ที่ผ่านมามีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กหลายวิธี เช่น ยุบรวม ควบรวม แต่ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เพราะคนที่คิดแก้ปัญหากับคนที่พบปัญหา เป็นคนละคน ซึ่งจากนี้จะใช้วิธีใหม่ โดยขอให้วิธีการแก้ไขปัญหามาจากพื้นที่ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล หากพบว่า มีปัญหาใดที่ต้องการการสนับสนุนงบฯ ให้เสนอเข้ามาอย่างเร่งด่วน เพื่อแปลงงบฯ บางส่วนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา
ขณะเดียวกัน ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)ทั่วประเทศ จะต้องลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียน เป็นประจำทุกสัปดาห์ ต้องรู้ว่าโรงเรียนในพื้นที่มีปัญหาอะไร เดินทางไกลมากน้อยแค่ไหน แล้วทำรายงานกลับมาเป็นรายโรงเรียน รวมถึงเสนอทางแก้ไขและงบฯ ที่ใช้ในการดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ ตนจะกำหนดเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการทำงานของ ผอ.สพท.
“เรามีเขตพื้นที่ฯ ทั้งหมด 225 เขต บางโรงเรียนบอกว่า เขตพื้นที่ฯไม่เคยลงไปเยี่ยมโรงเรียนเลย กระทบถึงคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งมีปัญหามากบ้างน้อยบ้าง ทั้งนี้ จากการรายงานของผู้ตรวจ ราชการ ศธ. ครั้งล่าสุดพบว่า มีโรงเรียนที่สอนระดับอนุบาลห้องละคนนั้น พอลงไปตรวจสอบสภาพปัญหาจริงพบว่า เกือบทั้งหมดมีความจำเป็นที่ต้องทำ เช่นไม่มีโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่ง จกนี้แนวทางแก้ปัญหาจะให้เป็นการตัดสินใจของผู้ปกครอง ครู และนักเรียนเอง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่รู้สภาพปัญหาดีที่สุด” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ด้าน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เป้าหมายการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กตอนนี้ไม่ใช่การลดจำนวนโรงเรียนลง แต่เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นผู้ตัดสินใจ สพฐ. โดย ศธ. มีหน้าที่ในการสนับสนุน เชิงนโยบาย ซึ่งเท่าที่ดูปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก พบลักษณะเดียวกัน คือ ปัจจัยพื้นฐานอย่างไฟฟ้า เรือนพักนอน สำหรับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล และมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยเบื้องต้น สพฐ.จะยืดหยุ่นงบฯ ลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มาปรับใช้ในการยกระดับคุณผู้เรียน เพราะปัจจัยเหล่านี้ถือส่งผลต่อนักเรียนและห้องเรียนโดยตรง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ