“ที่เขาพูดกันว่า เด็กสมัยนี้ไม่รักการอ่านนั่นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่คงเพราะหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงหนังสือและสื่อที่เสริมสร้างพัฒนาการมากกว่าจึงทำให้ขาดแรงกระตุ้นจนกลายเป็นหลงลืมเรื่องความสำคัญของการอ่านไป”
ข้อความข้างต้นมาจากประโยคสนทนาตอนหนึ่งที่ อ.สุกานดา จันทวี สะท้อนออกมาเพื่อเล่าปัญหาและเหตุผลสำคัญที่ทำให้ริเริ่มทำโครงการห้องสมุดมีชีวิตเป็นปีแรก
อ.สุกานดา จันทวี อาจารย์สาขาบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้ดูแลโครงการห้องสมุดมีชีวิต เปิดเผยถึงที่มาของการจัดกิจกรรมว่า ต้องการที่จะพัฒนาห้องสมุดของโรงเรียนให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต รองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม
โดยเฉพาะด้านการสร้างนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมสู่การเป็นนักอ่าน นักคิด นักปฏิบัติ โดยให้หนังสือจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ ขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และเป็นกลไกสนับสนุนวาระแห่งชาติเรื่องการอ่านให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากอาจารย์สาขาบรรณารักษศาสตร์ และอาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา เข้ามาช่วยในโครงการนี้ด้วย
อ.สุกานดาเล่าว่า ได้ชักชวนนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.ภาษาไทย) ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจิตอาสามาร่วมกันคิดและปรับปรุงห้องสมุด รร.บ้านน้ำกระจาย อ.เมืองสงขลา แม้นักศึกษาจะไม่มีความรู้ด้านบรรณารักษ์มาก่อน แต่ได้อบรมให้ความรู้เบื้องต้น และทดลองทำร่วมกัน ทั้งนักศึกษา ครู และยังให้โอกาสนักเรียนในโรงเรียนได้ออกความคิดเห็น มีส่วนร่วมวางแผนด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้ใช้งบฯมหาวิทยาลัย
แต่ด้วยความเสียสละของนักศึกษาที่ตั้งใจช่วยอย่างเต็มที่ รวมถึงการช่วยเหลือจากทางคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา และบุคคลภายนอกที่ทราบข่าวมาร่วมบริจาคสิ่งของด้วย ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วง หลังจากนี้จะเป็นการติดตามขยายผล ดูแลให้ห้องสมุดอยู่ในสภาพดีคงเดิม และต่อยอดโดยการพัฒนาให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้และลานกิจกรรมของชุมชน โดยมีการจัดแบ่งโซนให้ผู้ปกครองสามารถเข้ามาใช้บริการได้ด้วย
ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการห้องสมุดมีชีวิต ว่า ดีใจแทนเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี การที่เราปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ย่อมเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ซึ่งห้องสมุดถือเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่กับเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงชุมชนด้วย เช่นเดียวกับ มรภ.สงขลา ที่มุ่งมั่นให้การศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น หากมีสิ่งใดที่จะสามารถร่วมมือกับชุมชนได้ก็ยินดีอย่างยิ่ง เพราะเราเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่คู่กับท้องถิ่นมายาวนานนับ 100 ปีแล้ว
บรรยากาศของห้องสมุดที่ชั้นวางอัดแน่นด้วยหนังสือตำเรียน วรรณกรรม รวมทั้งความรู้ทั่วไป ในขณะที่มีเด็กบางคนกำลังตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือเหล่านั้นอยู่ อีกมุมหนึ่งเด็กๆ ได้รวมกลุ่มกันเล่นเกมอย่างมีความสุข กับบรรดาของเล่นเสริมทักษะเพิ่มเติมจากความรู้ในห้องเรียน นี่คงไม่ใช่ภาพในฝัน ห้องสมุดโรงเรียนต้องมีชีวิต เพื่อสร้างอีกหลายร้อยชีวิตด้วยการเปิดโลกกว้าง เติมเต็มจินตนาการด้วยการอ่านไม่รู้จบ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ