ระบุจัดมาแต่ปี 2532 ถึงปัจจุบัน มีผลงานสิ่งประดิษฐ์กว่า 3 หมื่นชิ้นงาน จดสิทธิบัตรแล้วกว่า 60 ผลงาน และอีกกว่า 400 ผลงานกำลังได้รับการพัฒนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงาน “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา2561ณ ห้องไดมอนด์ ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต จ.ปทุมธานี โดยกล่าวว่า เป็นโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนและการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษา คิดเป็น ทำเป็น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายเน้นกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง ซึ่งจะนำไปสู่รากฐานของการวิจัย และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ทั้งยังสามารถนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ให้เป็นสังคมนวัตกรรมตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี
สำหรับการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 30 ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 10 ก.พ.62 โดยสอศ. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มาโดยตลอด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยกระจายกลุ่มเป้าหมายทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จนถึงปี 2562รวม 30 ปี มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ทั้งสิ้นกว่า 30,000 ผลงาน ผลิตภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายสามารถพัฒนาต่อยอดจนสามารถนำไปจดสิทธิบัตรกว่า 60 ผลงาน และกำลังส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมมากกว่า 400 ผลงาน
ทั้งนี้ ได้จัดประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ระดับอาชีวศึกษาจังหวัด ระดับภาคและระดับชาติ โดยนำผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัดและระดับภาค มาร่วมประกวดโดยจัดแบ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ฯ ออกเป็น 9 ประเภท รวมผลงานที่นำมาประกวดและแข่งขัน จำนวนทั้งสิ้น 180 ผลงาน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานมหกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 23 ภายใต้ชื่อ “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2561 มีทีมหุ่นยนต์จากสถานศึกษา สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันระดับภาค 16 ทีม การแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา (Asia-pacific Robocon Contest 2019) ที่ผ่านรอบคัดเลือก 40 ทีม การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยอาชีวศึกษา 39 ทีม การแข่งขันหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม 30 ทีม การแข่งขันหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ 30 ทีม การแข่งขันสาธิตหุ่นยนต์ออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล 30 ทีม เข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้ง การประกวดองค์ความรู้ “การนำเสนอผลงานวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ภาคภาษาอังกฤษ” 20 ทีม
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ