มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของเอเชียที่โดดเด่นด้านวิชาการโดยเฉพาะในกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่ง รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวและว่า
แต่อีกด้านได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้นักวิจัยไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ยืนยันได้จากคว้า28 รางวัล จากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” (Smart Real-time Online Sensor for Fetal Monitoring and Uterine Contraction) คือนวัตกรรมที่นำศาสตร์ด้านวิศวกรรมและการแพทย์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นสื่อกลางสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วระหว่างสูตินรีแพทย์กับมารดามีครรภ์ ในการส่งข้อมูลทางกายภาพของมารดาที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยและการเฝ้าติดตามสภาวะครรภ์
ได้แก่ การหดตัวของมดลูก ความดันโลหิตของมารดาและอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกและส่งผ่านจากเครื่องมือเข้าสู่แอปพลิเคชั่น และถูกส่งต่อไปยังสูตินรีแพทย์แบบเรียลไทม์ เพื่อประกอบการวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของครรภ์มารดา
หากเกิดความผิดปกติ แพทย์จะสามารถแจ้งเตือนและเรียกมารดาเข้ามาพบแพทย์ได้ในทันที เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายของมารดาและทารกในครรภ์จากการพบแพทย์ช้าเกินไป อีกทั้งยังสามารถเก็บเป็นข้อมูลสถิติประจำตัวของมารดา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาครั้งถัดไป และใช้เป็นชุดสาธิต รวมถึงสื่อการเรียนการสอนของแพทย์ พยาบาล และนักศึกษาแพทย์
“เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” พัฒนาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาที่พบมากในคุณแม่มือใหม่คือ ไม่เข้าใจสัญญาณต่างๆ ของร่างกาย อาทิ จังหวะหดรัดตัวของมดลูก ความดันเลือดของมารดา อัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ ที่อาจเป็นสัญญาณแจ้งเตือนถึงภาวะต่างๆ ที่เป็นอันตรายและต้องพบแพทย์ในทันที อาทิ คลอดก่อนกำหนด หรือครรภ์เป็นพิษ ซึ่งบางกรณีหากพบแพทย์ช้าอาจเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ รวมทั้งยังใช้ทดแทนอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ จึงลดต้นทุนนำเข้าได้อีกด้วย
เป็นผลงานการวิจัยร่วมกับ ดร.พัชราภรณ์ วงศ์ชาดากุล คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายศุภเกียรติ สุภสินธุ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มธ. และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนพัฒนาต่อเพื่อสร้างความแม่นยำในการวัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 62
ด้าน ผศ.ดร.สุภกร บุญยืน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เจ้าของผลงานวิจัย “อาหารเสริมเร่งน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วย” กล่าวว่า ทีมวิจัย คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมกระตุ้นน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วยแบบอัดเม็ดสูตรเข้มข้น ที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ได้มากกว่าปกติ
มาพร้อมกับคุณค่าโภชนาการของปลีกล้วยที่มีสรรพคุณทางยา ทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ เพราะใช้ความหวานจากสารสกัดหญ้าหวาน และอินทผาลัม ซึ่ง “ปลีกล้วย” อุดมไปด้วยแทนนิน สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารต่อต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก มีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ส่วน “หัวปลีกล้วย” อุดมด้วยธาตุเหล็กจากธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง อีกทั้งมีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด
นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างเตรียมออกแบบตัวอาหารเสริมเร่งน้ำนมแม่ฯ เพื่อผลิตจริงและทดสอบประสิทธิภาพในหญิงตั้งครรภ์ อยู่ระหว่างยื่นจดอนุสิทธิบัตร พร้อมพัฒนาต่อในรูปแบบเพาเวอร์เจล หรือเจลที่ให้พลังงานชนิดหนึ่ง ที่สะดวกต่อการบริโภคและพกพา รวมถึงดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เป็นลำดับต่อไป คาดจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 62
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ