ด้วยสมองและสองมือ
อีกหนึ่งงานผลงานศิลปะประดิษฐ์ “เครื่องแขวนไทยจากฟางข้าว” ผลงานนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในการสร้างสรรค์ศิลปะประดิษฐ์ สู่นวัตกรรมชุมชน
อ.วิจิตร สนหอม อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปะประดิษฐ์ในงานคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า เครื่องแขวนไทยเป็นศิลปะเชิงช่างดอกไม้ของคนไทยมาช้านาน มีการนำดอกไม้ของไทยที่มีกลิ่นหอมประดิษฐ์เป็นรูปแบบตามประเภทเครื่องแขวน เช่น วิมาน ระย้า โคม เพื่อใช้ประดับตกแต่งช่องประตูหน้าต่าง อาคาร บ้านเรือน ให้เพลิดเพลินเมื่อได้มอง และได้รับกลิ่นหอมจากดอกไม้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
จากการเรียนการสอนรายวิชาเครื่องแขวนไทย หลักสูตรศิลปะประดิษฐ์ในงานคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ได้นำผลงาน กระดาษฟางข้าว ของกลุ่มผู้สูงอายุบ้านกระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี จากการบริการวิชาการของคณะให้กับชุมชน มาบูรณาการเข้ากับรายวิชาเครื่องแขวนไทยเป็นการนำนวัตกรรมทางความคิดในการผสมผสานงานวัสดุงานประดิษฐ์ที่มีกระดาษฟางข้าวเป็นวัสดุหลัก
น.ส.กุลชญา เขมสุมสำราญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า ได้นำบุษราคัม มาเป็นแนวคิดออกแบบเครื่องแขวน ด้วยสีเหลืองที่สดใส เข้ากับกระดาษฟางข้าว ส่วนประกอบเครื่องแขวนประกอบด้วย ตาข่าย คือ ตาข่ายดอกไม้ ร้อยตาข่าย ลาย 4 ก้าน 4 ดอก แบบกนก นำกลีบจากกระดาษฟางข้าวมาเรียงกลีบ อุบะทรงเครื่อง ห้อยที่ชายแกว่งไกวให้รู้สึกสบาย นุ่มนวล
อุบะประกอบ นำรูปทรงของพลอยที่เจียระไนมาผสมกับอุบะทรงเครื่องเล็ก และกระเช้าสีดา โครงสร้างเป็นรูปดาว 6แฉก ส่วนบนร้อยดอกเป็นสาย ผูกรวบตรงกลางห้อยอุบะแขก ตัวกระเช้าร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบที่ชายห้อยอุบะพู่ ตามมุมประดับเฟื่องแบบกนก ติดอุบะประดิษฐ์ที่กนก ผูกอุบะแบบประดิษฐ์ที่มุมและติดทัดหูรูปดาว
“กระดาษฟางข้าวสามารถใช้แทนกลีบดอกไม้ได้เป็นอย่างดีเพราะมีความบาง เบา เหมือนกลีบดอกไม้ ทำให้ชิ้นงานอ่อนช้อย สวยงาม เหมือนทำจากดอกไม้สด”
ด้านน.ส.วาสีนี เกตุไทย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า เครื่องแขวนชื่อ “รงค์สุวรรณ” นำรูปทรงของถ้วยเบญจรงค์มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่มีลวดลายเป็นสีทอง ซึ่งหมายถึง ความมั่งคั่ง มั่งมี อบอุ่น ส่วนประกอบเครื่องแขวนต่างๆ เป็นการใช้รูปทรงของประจำยามซึ่งเป็นทรงวงกลมเหมือนดอกบานชื่น เรียงแบบด้วยกลีบตอกจากกระดาษฟางข้าว เฟื่อง ใช้รูปทรงของปีกกา หรือวงเล็บปีกกา มาประยุกต์ให้อ่อนช้อย ส่วนประกอบอื่นใช้เทคนิคแบบผสมผสาน โดยดอกจำปี ใช้กลีบตอกเป็นกลีบจำปี สลับสับหว่างแต่ละชั้นให้คล้ายดอกจำปีจริงมากที่สุด
อ.วิจิตรกล่าวว่า นักศึกษานำแนวความคิดจากธรรมชาติ สถานที่ต่างๆ ลวดลาย ศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านการเรียน การสอนวิชาเครื่องแขวนไทย ได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกับสื่อดิจิตอลและเทคโนโลยี ผสมผสานเอกลักษณ์ด้านศิลปะประดิษฐ์ ภูมิปัญญาของไทย ผนวกกับแนวคิดสมัยใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานเป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบร่วมสมัย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลthailand 4.0 บูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม ผสมผสานเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาชีพ
งานเครื่องแขวนไทยเป็นงานประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ประดับตกแต่งอาคาร สถานที่ เป็นการนำเอานวัตกรรมชุมชนมาสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าให้กระดาษฟางข้าว นำความรู้ไปต่อยอดและสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ