เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการประกาศผลการพิจารณามอบรางวัล Special Breakthrough Prize สาขาฟิสิกส์พื้นฐานแก่ “ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง โจเซลิน เบลล์ เบอร์แนลล์” แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยดันดี สหราชอาณาจักร ในฐานะที่เธอมีส่วนร่วมสำคัญอย่างยิ่งในการค้นพบพัลซาร์ รวมถึงเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจต่อวงการวิทยาศาสตร์โลกในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โจเซลิน ได้ค้นพบพัลซาร์ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1967 เมื่อเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร มีศ.แอนโทนี เฮวิช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ขณะใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่เธอมีส่วนร่วมพัฒนาขึ้น เธอพบสัญญาณที่ไม่คาดคิดและพิสูจน์ได้ว่าเป็นสัญญาณจากนอกโลก ซึ่งไม่ใช่สัญญาณจากมนุษย์ต่างดาว หากแต่เป็นสัญญาณจากดาวนิวตรอน ต่อมาจึงได้ตั้งชื่อว่า “พัลซาร์” ส่งผลให้อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ ศ.แอนโทนี เฮวิช ร่วมกับเซอร์มาร์ติน ริลล์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1974
พัลซาร์ (Pulsar) คือ ดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง จึงแผ่คลื่นวิทยุออกมาทางขั้วเหนือและใต้ของดาว ทุกครั้งที่ขั้วดาวหมุนมาทิศเดียวกับผู้สังเกตบนโลก จึงรับสัญญาณดังกล่าวได้เป็นคาบ เช่นเดียวกับการมองเห็นแสงจากประภาคาร การค้นพบพัลซาร์ในปี ค.ศ. 1974 นับเป็นหนึ่งในการค้นพบอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ ได้พิสูจน์ถึงความมีอยู่จริงของดาวนิวตรอนว่ามิใช่เป็นเพียงในทางทฤษฎี
นอกจากนี้ ความแม่นยำจากการศึกษาพัลซาร์ ยังนำไปสู่การทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด และใช้ตรวจวัดการมีอยู่จริงของคลื่นความโน้มถ่วงได้เป็นครั้งแรก ส่งผลให้ ศ. รัสเซลล์ เฮาล์ส และ ศ. โจเซฟ เทย์เลอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1993
ล่าสุดในปี ค.ศ. 2017 หอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงโดยใช้อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ชนิดเลเซอร์ หรือ LIGO ตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรงเป็นครั้งแรก เกิดจากการรวมตัวของดาวนิวตรอนสองดวง ทำให้เกิดไฮเปอร์โนวา (Hypernova) แหล่งต้นกำเนิดของธาตุหนักต่าง ๆ ในเอกภพ เช่น ทองคำ ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การค้นพบอันลือลั่นวงการวิทยาศาสตร์นี้ ส่งผลให้ ศ. รายเนอร์ ไวสส์ ศ. แบรรี่ แบริช และ ศ. คิป ทอร์น รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนั้น
ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมา โจเซลินยังเป็นผู้นำและมีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์โลก เธอมีส่วนร่วมพัฒนาเรียนการสอนดาราศาสตร์ และหลักสูตร STEM ในสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยหลายแห่ง และเคยมีบทบาทเป็นผู้นำของหลายสถาบัน เช่น ผู้จัดการโครงการ James Clerk Maxwell Telescope ประธานสมาคมดาราศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร ประธานผู้หญิงคนแรกของสถาบันฟิสิกส์แห่งสหราชอาณาจักรและประเทศไอร์แลนด์ และประธานราชบัณฑิตยสภาของ Edinburgh ฯลฯ
รางวัลที่โจเซลินได้รับครั้งนี้มีมูลค่าถึง 3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท มีมูลค่ามากกว่ารางวัลโนเบลเกือบ 3 เท่า หลังจากทราบข่าว โจเซลินได้หารือกับสถาบันฟิสิกส์แห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ประสงค์มอบเงินรางวัลเป็นทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกสำหรับผู้ต้องการโอกาสในการศึกษาวิทยาศาสตร์
โจเซลินตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายในวงการวิทยาศาสตร์ โดยกล่าวว่า “ฉันมีโอกาสทำงานสำคัญที่สุดในชีวิตเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอก จึงอยากให้โอกาสนี้แก่เยาวชนรุ่นหลังเหล่านั้นเพื่อค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อไป”
ศ.มิชาเอล คราเมอร์ ผอ.สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังซ์ และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์นานาชาติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงโจเซลินว่า เป็นบุคคลตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างแท้จริงตลอดมา เป็นเสมือนแสงสว่างจากประภาคารให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ในฐานะนักดาราศาสตร์สาขาพัลซาร์ ผมขอบคุณท่านที่ได้ให้พัลซาร์เป็นของขวัญที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับพวกเราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมรู้สึกขอบคุณสำหรับความพยายามที่ไม่หยุดยั้งของเธอ ในการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ และสตรีในสาขาวิทยาศาสตร์”
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความเห็นว่า การค้นพบพัลซาร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่ขณะนั้นยังไม่แน่ใจว่า จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านใดได้บ้าง แต่การมุ่งมั่นศึกษาเชิงลึกของวิทยาศาสตร์พื้นฐานตลอดระยะเวลาอันยาวนาน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเพียงใด
โจเซลินเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ สดร. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของคนไทย โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุที่ สดร. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อุปกรณ์ และเครื่องมือหลายอย่าง เราไม่ได้ซื้อมาโดยตรง แต่มุ่งเน้นการสร้างและร่วมพัฒนากับหน่วยงานดาราศาสตร์ระดับโลกที่เราร่วมมือ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ
ทั้งนี้ งานวิจัยด้านพัลซาร์ยังคงเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่น่าตื่นตาตื่นใจอันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศไทยกำลังผลักดันให้เกิดโครงการจัดตั้งหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ประกอบด้วย กล้องโทรทรรศน์วิทยุหลักขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ในอนาคตกล้องโทรทรรศน์วิทยุนี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการทำวิจัยด้านพัลซาร์ของไทย ปัจจุบัน มีนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านพัลซาร์ที่ปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 2 ท่าน ได้แก่ ดร. พฤทธิ์ เจริญจิตติชัย และ ดร. ศิรประภา สรรพอาษา
ขณะที่ดร. พฤทธิ์ เจริญจิตติชัย นักวิจัยอาวุโสและผู้จัดการโครงการพัฒนาสถานีกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ กล่าวว่า “การค้นพบของโจเซลินเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจ ให้นักศึกษาและนักดาราศาสตร์รุ่นใหม่อย่างพวกผม เปิดใจกว้างถึงโอกาสในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจซ่อนอยู่ในชุดข้อมูลที่เราสังเกตการณ์ได้และวิเคราะห์อยู่”
“ท่านเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจทำวิจัยในสาขาพัลซาร์ และสนใจทำงานเพื่อสนับสนุนในด้านความหลากหลายในวงการวิทยาศาสตร์ ท่านเคยให้คำแนะนำว่า อย่าได้กลัวในสิ่งใด จงตั้งใจทำในสิ่งที่คุณรักและสนใจ อย่าให้ใครมาบอกว่าคุณทำไม่ได้ เพราะคุณทำได้และทำได้ดีกว่าที่พวกเขาคาดคิดอีกด้วย” ดร. ศิรประภา สรรพอาษา กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ