นับจากปีพุทธศักราช 2532 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 29 ปีแล้วที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนการจัดส่งเยาวชนเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือที่เรารู้จักกันนาม “โอลิมปิกวิชาการ”
ในปีนี้การจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ.2561 ดำเนินไปโดยต่อเนื่อง น้องๆ เดินทางไปแข่งขันและกลับมาพร้อมเหรียญชัยรวมทั้งประสบการณ์ที่มีคุณค่า ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และที่ใกล้จะไปแข่งขันเร็วๆ นี้ คือทีมของวิชาคอมพิวเตอร์ 4 คน ไปแข่งขัน ณ เมืองทสึคุบะ จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 31 ส.ค. – 8 ก.ย.ที่จะถึงนี้
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สสวท.เปิดเผยถึงจุดมุ่งหมายของการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการว่า เป็นการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศด้านวิชาการ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดผลให้เหมาะสมและมีมาตรฐานสูงขึ้นเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเวทีที่ให้เยาวชนที่มีศักยภาพสูงได้แสดงความสามารถด้านปัญญาและพัฒนาศักยภาพของตน รวมทั้งส่งเสริมให้ครูและเยาวชนไทยได้รับประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูและเยาวชนจากนานาชาติ
ทางด้านดร.พรชัย อินทร์ฉาย รักษาการผู้ช่วยผอ.สสวท. ก.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมในพิธีรับคณะผู้แทนประเทศไทยที่เดินทางกลับจากการ ไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 29 ล่าสุดที่ผ่านมา ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้แทนไทยทั้ง 4 คน สามารถคว้าเหรียญเงิน 4 เหรียญจากการแข่งขันเมื่อวันที่ 15 – 22 ก.ค.61 ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ว่า
การได้รับรางวัลจากการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกแสดงถึงมาตรฐานทางวิชาการในระดับนานาชาติ รวมทั้งศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทย เพราะที่ผ่านมาได้พัฒนาและเตรียมความพร้อมอย่างดี ข้อสอบแต่ละปีจะยากง่ายแตกต่างกัน ในการแข่งขันเราไม่ได้หวังรางวัลสูงสุดเพียงอย่างเดียวแต่มุ่งให้เด็กได้รับองค์ความรู้และประสบการณ์นำกลับมาใช้เสริมทักษะความสามารถให้เกิดประโยชน์ก้าวหน้าต่อไป
ผู้แทนประเทศไทยชีววิทยาโอลิมปิกทั้ง 4 คน ประกอบด้วย นายนิรวิทธ์ เชาวนจินดา รร.เทพศิรินทร์ กทม. นายปารีส นิลทลักษณ์ รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม นายฐิติวัสส์ อัศวเลิศพลากร รร.เตรียมอุดมศึกษา กทม. น.ส.รุจีรดา วิโรจนานุวัฒน์ รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม
ด้านน้องๆ ทั้ง 4 คนเผยว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ ที่สนใจด้านชีววิทยาจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ข้อสอบมีความยากตามมาตรฐานในการทดสอบฝีมือ พวกเราเตรียมตัวโดยแบ่งเวลาอ่านหนังสือสม่ำเสมอ ตั้งใจและทำความเข้าใจในการอบรมเข้าค่าย ส่วนเคล็ดลับในการเรียนได้ดีคือ หากชอบในวิชาที่เรียนจะเรียนได้ไม่เบื่อ ทำความเข้าใจกับเนื้อหามากกว่าท่องจำ วิชาชีววิทยาไม่ใช่การท่องจำแต่เป็นความเข้าใจ
สำหรับคณะอาจารย์ในทีมประกอบด้วย ผศ.ดร.นพดล กิตนะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้าทีม รศ.ดร.ศุภจิตรา ชัชวาล จุฬาฯ รองหัวหน้าทีม รศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม รศ.ดร.ธีระพงษ์ บัวบูชา จุฬาฯ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม ดร.ศันสรียา วังกุลางกูร ม.สงขลานครินทร์ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม และอาจารย์ทวินันท์ แสงขัติยะ นักวิชาการ สสวท. ผู้จัดการทีม
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเป็นทุนการศึกษาแก่ผู้แทนประเทศไทยทุกคนเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในสาขาวิชาที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกอีกด้วย เวทีโอลิมปิกวิชาการจึงไม่ได้หวังแค่เรื่องแพ้ชนะเท่านั้น แต่เป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้น้องๆ เยาวชนไทยได้รับทั้งความรู้วิชาการและประสบการณ์มาสร้างเสริมความสามารถให้เกิดประโยชน์และเกิดความก้าวหน้าแก่ตนเองและประเทศชาติต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ