คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
ปัจจุบันอาหารเพื่อสุขภาพเป็นที่สนใจของผู้บริโภค ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณค่าของสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน นอกจากไขมันทรานส์ และไขมันอิ่มตัว ที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว การปรับสมดุลของโอเมก้าซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้น
“โอเมบอส ซอสปรับสมดุลไขมันโอเมก้าสำหรับเมนูผัดกะเพรา” นวัตกรรมจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นการพัฒนาซอสปรุงรสในเมนูผัดกะเพราซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย ให้มีปริมาณไขมัน โอเมก้าที่สมดุล เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
นวัตกรรมนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ปี 2562 และสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษามาครองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
อ.ดร.สุกฤต ศิริขวัญพงศ์ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า อาหารประเภทผัดต่างๆ ซึ่งมีไขมันเป็นส่วนประกอบ มักจะมีปริมาณไขมันมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ โอเมก้า 6 เป็นไขมันที่เรารับประทานมากเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด และในเนื้อสัตว์
การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 6 มากเกินไปจะสร้างสารที่กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ทำให้ลิ่มเลือดจับตัวกันมากจนอาจไปอุดตันในหลอดเลือดได้ ในขณะที่โอเมก้า 3 ซึ่งอยู่ในอาหารประเภทปลาทะเลหรือน้ำมันปลาจะช่วยลดการอักเสบและป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ หากทานโอเมก้า 3 มากเกินไปจะส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดช้าเมื่อเกิดบาดแผล
อ.ดร.สุกฤตเผยถึงที่มาของซอสปรับสมดุลไขมันโอเมก้าสำหรับเมนูผัดกะเพราว่า “ผัดกะเพราเป็นเมนูอาหารจานโปรดของคนไทยและเป็นที่นิยมของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ผัดกะเพราเป็น 1 ใน 15 อาหารต่างชาติที่ชาวญี่ปุ่นนิยมทำในครัวเรือน
สำหรับความพิเศษของซอสกะเพรา ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นซอสที่ช่วยปรับสมดุลไขมันโอเมก้าให้ได้อัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างไขมันโอเมก้า 6 กับไขมันโอเมก้า 3 โดยมีโอเมก้า 6 ในปริมาณ 2 ส่วน และโอเมก้า 3 ในปริมาณ 1 ส่วน
เมื่อนำซอสกะเพรามาผัดกับเนื้อสัตว์ อัตราส่วนของไขมันโอเมก้า 6 ต่อไขมันโอเมก้า 3 ในผัดกะเพรา จะถูกปรับให้มีความสมดุลและเหมาะสมต่อสุขภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับซอสผัดกะเพราทั่วไป”
“โอเมบอส มีส่วนประกอบของน้ำมันงาขี้ม้อนซึ่งผลิตได้ในประเทศไทย และเป็นน้ำมันที่มี ไขมันโอเมก้า 3 สูงที่สุด การนำซอสกะเพรามาผัดอาหารจะใช้ปริมาณซอส 3 ช้อนโต๊ะ สามารถใช้ผัดกับน้ำมันพืชและเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ โดยที่อัตราส่วนไขมันโอเมก้า 6 ต่อ 3 ยังคงความสมดุลและเหมาะสมต่อสุขภาพ” อ.ดร.สุกฤต กล่าว
กว่าจะมาเป็นผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติปีนี้ อ.ดร.สุกฤต เผยว่า ต้องผ่านการศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานานนับปี นิสิตเจ้าของงานวิจัยต้องทุ่มเทในทุกขั้นตอนการทำงาน เริ่มจากการสำรวจผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสในท้องตลาด ผ่านกระบวนการการทดสอบในขั้นตอนต่างๆ กว่า 7- 8 การทดลอง
เมื่อนำซอสบรรจุขวดไปใส่ตู้อบอุณหภูมิ 55 องศา เป็นเวลา 7 สัปดาห์ พบว่าคุณภาพของซอส รสชาติและองค์ประกอบต่างๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคสามารถเก็บซอสไว้ได้อย่างน้อย 1 ปี
ปัจจุบันผลงานนวัตกรรมนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรผ่านสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาฯ แล้ว ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดโดยผู้ประกอบการเพื่อนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ