พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทได้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงมีพระราชดำริโครงการช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 4,596 โครงการ
เช่น 1.การพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 3,067 โครงการ 2.การพัฒนาด้านการเกษตร 107 โครงการ 3.การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 33 โครงการ 4.การพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ 79 โครงการ 5.การพัฒนาด้านสาธารณสุข 2 โครงการ 6.การพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร 4 โครงการ 7.การพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม การศึกษา 30 โครงการ 8.การพัฒนาแบบบูรณาการ 147 โครงการ ฯลฯ
รากเหง้าปรัชญาเศรษฐกิจ–วิถีพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตรัสถึงแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ ‘การพอมี พอกิน’ ซึ่งถือเป็นรากฐานของ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ’ มาตั้งแต่ปี 2517 แต่กว่าสังคมไทยจะตื่นตัวเวลาได้ผ่านไปกว่า 20 ปี เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นหลายปี ประเทศไทยพยายามจะมุ่งเป้าไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่หรือ ‘เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเซีย’ (4 เสือ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า…
“..ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่ง บางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก….” (พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540)
กล่าวได้ว่า พระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการ ‘พออยู่ พอกิน’ และแนวทาง ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ นั้น อันที่จริงก็เป็นรากฐานของสังคมเกษตรกรรมของไทยมาแต่เนิ่นนานแล้ว เช่น ในอีสานมีคำพูดที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตการทำมาหากินว่า “เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน” (ทำอยู่ ทำกิน) ซึ่งมีความหมายถึงการทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยการพึ่งพาตัวเอง เช่น ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ทอผ้า ทำเครื่องใช้ในครัวเรือน ฯลฯ ไม่ใช่วิถีแบบ “ซื้ออยู่ ซื้อกิน” เหมือนดังปัจจุบัน
นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังมีหลักการทรงงานที่สำคัญด้านการพัฒนาชุมชน นั่นก็คือ “การระเบิดจากข้างใน” ซึ่งหมายความว่า “ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว”
แรงบันดาลใจจากในหลวง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์การพัฒนาภูพาน ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ในโอกาสนี้พระองค์ได้พระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“…แนวทางการแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินเกษตรกร ควรจัดให้มีกองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน โดยวิธีออมทรัพย์ร่วมกัน เพื่อสาธิตการบริหารจัดการเงินและการบัญชีแก่ชาวบ้าน ส่งเสริมการจัดตั้งร้านค้าสาธิตหมู่บ้าน เพื่อฝึกด้านการจัดการตลาด ควรริเริ่มทำธุรกิจชุมชนในหมู่บ้านให้เข้มแข็ง และแพร่หลาย เพื่อพัฒนาสู่ระบบหมู่บ้านสหกรณ์ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต…”
ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มเกษตรกรที่นี่มีปัญหาความยากจนและมีหนี้สินไม่ต่างจากที่อื่นๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกพืชไร่หรือพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบมาเป็นทุนหมุนเวียน ทำให้หนี้สินพอกพูนขึ้นทุกวัน
พิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ผู้นำกลุ่มเกษตรกรตำบลท่าเสา เล่าว่า จากปัญหาหนี้สินและผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ตำบลท่าเสาจึงได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้น โดยสร้างระบบพึ่งพากันในชุมชนขึ้นมา เริ่มตั้งแต่เรื่องการจัดการทุน จากเดิมที่ต้องกู้หนี้ยืมสินจากคนข้างนอก จึงสร้างทุนภายในชุมชน โดยการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้นมาหลังจากเกิดวิกฤติปี 2540 เริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 15 คน ร่วมกันออมทรัพย์เป็นประจำทุกเดือน ใครมีมากก็ออมมาก มีน้อยก็ออมน้อย เมื่อมีเงินมากขึ้น สมาชิกที่เดือดร้อนก็สามารถกู้ยืมเงินไปหมุนเวียนได้ โดยเสียดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย
“พอธนาคารหมู่บ้านเริ่มโตขึ้น เราก็ยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชนในปี 2543 และเริ่มคิดถึงเรื่องปากท้องให้ครบวงจร จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกข้างนอกอย่างเดียว แล้วเราก็ต้องไปซื้อสินค้าจากข้างนอกกลับเข้ามากินมาใช้อีก จึงได้แง่คิดว่า จะทำอย่างไร? ให้ชาวบ้านผลิตสิ่งที่เรากิน แล้วเอามาใช้แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายกันเอง เราจึงร่วมกันจัดตั้งร้านค้าชุมชนหรือศูนย์สาธิตการเกษตรฯ ขึ้นมาในปี 2544 โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากเดิมปลูกพืชส่งโรงงานมาปลูกพืชผักที่เป็นอาหาร ใครปลูกอะไรเหลือกินก็เอามาจำหน่าย หรือเอามาแปรรูป ทำอาหาร ทำขนมขาย” พิพัฒน์เล่าความเป็นมา
ศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา
‘ศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา’ มีลักษณะเหมือน ‘ร้านโชวห่วย’ ทั่วไป คือขายของกิน–ของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง กะปิ น้ำปลา น้ำตาล ขนม เครื่องดื่ม สบู่ ยาสีฟัน ถ่านไฟฉาย ฯลฯ แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของ โดยการระดมทุนจากชาวบ้านหุ้นละ 100 บาท เพื่อนำมาเป็นทุนดำเนินการ
แต่ที่พิเศษกว่าร้านค้าทั่วไปก็คือ สมาชิกสามารถนำผลผลิตจากครัวเรือนมาฝากขายที่ศูนย์ฯ (ไม่ต้องขายเอง) เช่น ผักสวนครัว ผลไม้ กล้วย ขนุน มะม่วง ฯลฯ ที่ปลูกโดยไม่ใช่สารเคมี ใครมีฝีมือทางอาหารหวานคาวก็นำมาฝากขาย เช่น ข้าวต้มมัด กล้วยบวชชี ผัด–แกงต่างๆ หมูปิ้ง ข้าวเหนียว ปลาส้ม ปลาร้า น้ำพริก เครื่องแกง หน่อไม้ดอง ฯลฯ โดยศูนย์ฯ จะคิดค่าจำหน่าย 10 % ของราคาขาย เพื่อนำรายได้มาเป็นค่าบริหารจัดการ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างตลาดให้ชาวบ้าน ใครขาดเหลืออะไรก็มาซื้อหาได้ที่นี่ เหมือนกับเป็นการแลกเปลี่ยนกัน
ศูนย์สาธิตการเกษตรฯ เปิดจำหน่ายทุกวัน ตั้งแต่เช้า–ค่ำ มีการจ้างคนในตำบลมาเป็นพนักงานบัญชีและพนักงานขาย ใช้ระบบคอมพิวเตอร์บันทึกการซื้อขาย สินค้าที่ชุมชนผลิตไม่ได้ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล เครื่องดื่ม นม ของใช้ต่างๆ จะสั่งซื้อมาจากร้านค้าส่งรายใหญ่ ทำให้ได้ส่วนลด มียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 50,000-60,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 2 ล้านบาท
ผลกำไรจำนวน 50 % จะปันผลคืนสมาชิกตอนสิ้นปี, 20 % เป็นทุนดำเนินการ, 15 % นำไปใช้เป็นกองทุนสวัสดิการและพัฒนาชุมชน ส่วนอีก 15 % เป็นค่าบริหารจัดการของคณะทำงานและผู้บริหาร ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 600 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนและเงินหุ้นที่สมาชิกร่วมลงทุนประมาณ 6 ล้านบาทเศษ
ภายในศูนย์สาธิตการเกษตร
ส่วนสถาบันการเงินชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 300 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 ล้านบาทเศษ สมาชิกสามารถกู้ยืมได้ 2 เท่าของเงินออมที่ตนมีอยู่ หรือตามสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ และมีเงินทุนเป็นของตัวเอง เหมือนกับแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานเอาไว้
“ศูนย์สาธิตฯ หรือร้านค้าชุมชนเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในตำบลท่าเสา จากเดิมที่ปลูกเพื่อขายและซื้อกิน ก็เปลี่ยนมาปลูกเพื่อกิน นำผลผลิตที่เหลือมาขาย ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อมีรายได้ก็เอาเงินไปฝากสถาบันการเงิน เป็นทุนหมุนเวียนในตำบล ส่วนร้านค้าชุมชนเมื่อมีกำไรก็เอามาดูแลเรื่องสังคม เรื่องการศึกษา สิ่งแวด ล้อม ดูแลป่า และสุขภาพของคนในตำบล ทำให้วิถีชีวิตของคนท่าเสาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมาก เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านจริงๆ” ผู้นำชุมชนตำบลท่าเสากล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ศาสตร์พระราชา : สร้างทำนบกั้นเงินที่ จ.พะเยา
ครูมุกดา อินต๊ะสาร นักพัฒนาจาก อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา บอกว่า ในอดีตอำเภอดอกคำใต้มักจะมีชื่อเสียงในด้านลบว่าเด็กสาวจากที่นี่มักจะมีอาชีพขายบริการทางเพศ ครูจึงสนับสนุนให้เด็กนักเรียนที่ยากจนได้มีโอกาสเล่าเรียนต่อเพื่อสลัดตัวออกจากวงจรอุบาทย์ ส่งเสริมเรื่องอาชีพ รายได้ สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ แก้ไขปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ ฯลฯ
ครูมุกดา อินต๊ะสาร
ในปี 2535 ครูมุกดาสนับสนุนให้เกิดธนาคารหมู่บ้านขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ นำเงินที่ออมมาช่วยเหลือกัน และขยายไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล เช่น ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมสวัสดิการชุมชน ช่วยเหลือกันตั้งแต่เกิดจนตาย ฯลฯ ปัจจุบันได้ขยายเป็นเครือข่าย ‘ศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้าน จ.พะเยา’ มีกองทุนต่างๆ และกองทุนสวัสดิการชุมชนกระจายในพื้นที่จังหวัดพะเยาและทั่วภาคเหนือ
“ในช่วงหนึ่งในชีวิตของครูได้มีโอกาสรับฟัง ได้ยินแนวคิดของพระองค์ท่านเกี่ยวกับทำนบกั้นเงิน หรือธนาคารหมู่บ้าน ครูก็เลยคิดว่าเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราสามารถเอาทุนเล็กๆ จากพี่น้องมาออมในลักษณะองค์กรการเงินของชุมชนที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ‘ใครมีเอามาใส่ ใครจำเป็นเอาไปใช้’ ผลกำไรที่ออกมาเอามาจัดสวัสดิการให้สมาชิกและชุมชน”
“ในความคิดของครู จาก 40 ปีที่ทำงานผ่านมา แนวคิดของพระองค์ท่านตอกย้ำเรื่องของการทำให้เรารู้จักการจัดการตัวเอง รู้ว่าเราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ และท้ายที่สุดเราจะเกื้อหนุนกันอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไรเป็นเครื่องมือที่พวกเราถนัด เอามาจัดการเรื่องราวเหล่านั้น และขยายวงให้เพื่อนพี่น้อง สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้พวกเราเกิดความรัก ความสามัคคี ดูแลซึ่งกันและกันได้ ลดความขัดแย้งหลายเรื่อง บางครั้งเราอาจจะต้องใช้เวลาทบทวนเหมือนพระองค์ท่านว่า ความคิดที่แตกต่างกันมันสามารถที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ถ้าหากว่าพวกเราร่วมกันคิดโดยที่ไม่ใช่เอาอำนาจ เอาตัวตนของตนเป็นหลัก” ครูมุกดาบอกถึงการนำแนวคิดของพระองค์มาใช้ทั้งในเรื่องส่วนตัวและการพัฒนาชุมชน
“สร้างบ้านพอเพียง–ชีวิตพอเพียง” ที่ จ.สระแก้ว
ละอองดาว ศีลาน้ำเที่ยง ผู้นำนักพัฒนาแห่งตำบลคลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เล่าว่า ตำบลคลองหินปูน เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ในปี 2554 จึงเริ่มก่อตั้งกองทุนที่ดินขึ้นมา ให้ชาวบ้านร่วมกันสมทบเงินเข้ากองทุนอย่างน้อยเดือนละ 50 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 400 ราย มีเงินกองทุนกว่า 2 ล้านบาท ช่วยให้สมาชิกมีที่ดินทำกินแล้ว 69 ราย, มีที่ดินและที่อยู่อาศัย 30 ราย สมาชิกผ่อนชำระคืนเดือนละ 500 บาท
ละอองดาว ศีลาน้ำเที่ยง
นอกจากนี้ยังมี ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีบ้านเรือนทรุดโทรมจำนวน 130 ราย เป็นบ้านขนาด 4 X 6 เมตร ชั้นเดียว ใช้งบต่อหลังไม่เกิน 40,000 บาท ได้รับงบสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หลังละ 18,000 บาท ส่วนอีก 22,000 บาทใช้เงินกองทุนที่ชุมชนมีอยู่
“เรื่องของการพัฒนาที่อยู่อาศัย สิ่งที่เรานำศาสตร์ของพระองค์ท่านมาปฏิบัติก็คือ คิดแบบพอเพียง และคิดถึงคุณภาพชีวิตว่า การสร้างบ้านนี้จะอยู่ได้อย่างไรกับครอบครัว ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตโอฬาร ซึ่งมันก็ทำให้ทุกคนได้คิด อีกอันหนึ่งก็คือ การอยู่อย่างพอเพียง ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ตนเป็นที่พึ่งของตน โดยนำแนวของพระองค์ท่านมาปฏิบัติ ทำอย่างไรจึงจะปิดประตูครัวเรือนได้ ซึ่งก็มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผัก ปลูกมะเขือ พริก มะนาว กล้วย มะละกอ เอาไว้กินและขาย”
“ศาสตร์ของพระราชาจะใช้ต่อไปได้ตลอดชีวิตของเรา และอีกหลายร้อยปี เพราะเป็นศาสตร์ที่ทำแล้วเกิดผล ทำแล้วทุกคนอยู่ได้ เพราะไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นเขา ทำให้เราอยู่ได้ตามกำลังของเรา และเกิดการรวมกลุ่มเพื่อพึ่งตนเอง เริ่มจากครอบครัวแล้วก็ขยายไปหลายๆ ครอบครัว จนเต็มทั้งชุมชน ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความผูกพันกัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง ประเทศเข้มแข็ง” ละอองดาวบอก
บ้านจำรุง จ.ระยอง “ไม่รวย แต่มั่นคง”
ชาติชาย เหลืองเจริญ แกนนำนักพัฒนาแห่งบ้านจำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง บอกว่า ชาวบ้านที่นี่ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ทำนา ประมงชายฝั่ง เริ่มนำแนวพระราชดำรัสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยชักชวนให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเคมีมาเป็นอินทรีย์ ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชสมุนไพร แปรรูปผลไม้ ทำกะปิ น้ำปลา ฯลฯ รวมกลุ่มกันผลิตและขาย โดยการสร้างตลาดภายในชุมชน ฯลฯ
ชาติชาย เหลืองเจริญ
จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้หรือ ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ มีผู้คนมาท่องเที่ยวและศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะตลอดทั้งปี (ก่อนสถานการณ์โควิดปี 263) ประมาณปีละ 1 แสนคน ทำรายได้จากการทำอาหาร ขายผลไม้ อาหารแปรรูป ขนม และสินค้าต่างๆ ประมาณปีละ 20 ล้านบาท รายได้ส่วนหนึ่งนำกลับไปพัฒนาชุมชน ทำให้ชาวบ้านจำรุงมีอาชีพ มีรายได้ “ไม่รวย แต่มั่นคง”
“ในหลวงอยู่ในใจของพวกเราอยู่แล้ว สิ่งที่ท่านสอนทุกอย่างอยู่ในหัว อยู่ในร่างกาย อยู่ในจิตใจเราอยู่แล้ว เมื่อเราอับจนหนทางนึกอะไรไม่ออกก็กลับไปดูที่พระราชดำรัสในแต่ละห้วง ในแต่ละสถานการณ์นั้นๆ มันสามารถแปลงสู่การปฏิบัติการจริงในพื้นที่ได้ทุกเรื่อง ในหลวงไม่ได้ไปไหน ท่านยังอยู่ที่เดิม หลักคิดของในหลวงเป็นหลักคิดที่แม่นยำที่สุด เริ่มจากวิธีคิด การพึ่งพาตนเอง ทำจากเล็กไปหาใหญ่ ง่ายไปหายาก อยู่กับสังคมด้วยการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุข” ชาติชายย้ำ
พอช.หนุนชุมชนทั่วประเทศพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายการทำงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาอย่างต่อเนื่อง เน้นการสร้างรูปธรรมเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ในรูปแบบ Cluster หรือเครือข่าย เช่น คลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ การแปรรูป ตลาดชุมชน การท่องเที่ยวโดยชุมชน ฯลฯ
สินค้าชุมชนที่บ้านจำรุง จ.ระยอง
โดย พอช.มี ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน’ ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2565-2568) มีวิสัยทัศน์ คือ ‘ชุมชนท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง สามารถพึ่งตนเองได้ และจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน’ โดยใช้กระบวนการฝึกอบรมและจัดทำ ‘แผนธุรกิจเพื่อชุมชน’ หรือ ‘Community Business Model Cannas’ (CBMC) มีเป้าหมาย 800 ตำบลทั่วประเทศ เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ได้นำต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่ เช่น ผลผลิตทางการเกษตร ศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญา แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ มาสร้างอาชีพ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและชุมชน
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และเป็นการระเบิดจากข้างในตามหลักการทรงงานของพระองค์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง แล้ว ยังทำให้ฐานเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ !!