น่าจับตากับการรวมตัวแบบเฉพาะกิจของอดีตผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กว่า 30 คนจากทั่วประเทศ ในการประชุมสัมมนาแนวทางการพัฒนา “มรภ.สงขลา ยุค 4.0” มุ่งแสวงหาแนวทางสู่ความสำเร็จในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศไทย
ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.สงขลา เปิดเผยว่า เป็นโอกาสสำคัญที่บรรดาอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ ผู้มีความรู้ความสามารถด้านการสอนและการบริหาร ให้เกียรติแก่ มรภ.สงขลา ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติ ความรู้ ปัญหาและทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งจะทำให้คณะผู้บริหารและบุคลากร มรภ.สงขลา ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถนำข้อเสนอแนะที่ได้มากำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และยุคไทยแลนด์ 4.0
โดยที่ประชุมได้ชี้แนะถึงสูตรสู่ความสำเร็จ ประการแรก พันธกิจด้านการจัดการศึกษา ทุกมหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิต หรือการจัดการศึกษา เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานและความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงศาสตร์ที่เหมาะกับสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่อาศัยนวัตกรรมใหม่และความคิดสร้างสรรค์ มีการกำหนดแผนรับสมัครหรือผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาจำเป็นโดยต้องคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ
“พันธกิจด้านการวิจัย เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีนักวิชาการที่พร้อมไปด้วยศักยภาพการขับเคลื่อนเพื่อนำมาต่อยอดการพัฒนาประเทศและงานวิจัย นำไปสู่การพัฒนาประเทศและสามารถนำนวัตกรรม งานวิจัย มาผลิตและสร้างรายได้ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้องเน้นรายได้จากการวิจัยที่สร้างนวัตกรรมและนำไปสู่เชิงพาณิชย์”
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวถึงพันธกิจต่อไป คือ การบริการวิชาการแก่สังคม เมื่อมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริการทางวิชาการด้วยมิติต่างๆ จำเป็นต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาได้ตามความต้องการของสังคม โดยเฉพาะยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้ชุมชน ตลอดจนธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องอาศัยองค์ความรู้จากนักวิชาการและนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย และประการสุดท้าย คือ พันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยต้องตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก จนทำให้คนรุ่นใหม่ลืมเลือนความเป็นไทย จึงควรให้ความสำคัญและทำให้เยาวชนรุ่นหลังให้ความสำคัญกับความเป็นไทย และวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม
นอกจากพันธกิจ 4 ประการข้างต้นแล้ว เหล่าอดีตอธิการบดีราชภัฏ ยังมีข้อเสนอแนะน่าสนใจอีกหลายประเด็น อาทิ การพัฒนานักศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อให้มีทักษะความรอบรู้และสามารถปฏิบัติงานได้ เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะและทำงานได้หลากหลาย
อดีตอธิการบดีฯต่างเห็นตรงกันว่า ควรลดวิชาบังคับลง เพิ่มวิชาเลือกหรือหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเลือกวิชาเรียนที่ตนเองสนใจมากที่สุด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่สำคัญตัวหลักสูตรไม่ควรสร้างตามความถนัดของอาจารย์ แต่ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนหรือชุมชนสังคม และควรพัฒนาหลักสูตรตามอัตลักษณ์
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวต่อไปว่า สำหรับงานวิจัย ควรมีลักษณะเป็นงานวิจัยต่อเนื่อง สามารถพัฒนาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ได้จริง สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น และส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษา โดยน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10มาเป็นแนวทางในการพัฒนา ควบคู่ไปกับสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างหน่วยงานเอกชน สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยภายนอก และโรงเรียนต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ฟันเฟืองสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน คือคณาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ต้องสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจการทำงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เปิดโอกาสให้ได้ศึกษาดูงานในมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวอย่างด้านการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็น Smart University ในอนาคต
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ