‘สกลธี’ ชงขยายห้องสมุดเข้าชุมชน ‘ศิธา’ ชี้การศึกษาต้องเสมอภาค ‘วิโรจน์’ หนุนเสรีภาพในการอ่าน ‘ชัชชาติ’ ย้ำต้นทุนทางความคิด ต้องมาจากหนังสือที่ดี
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2565 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ที่งาน SUMMER BOOK FEST 2022 มีการจัดกิจกรรมเสวนาก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ในงานครั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือเวที “(ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม อ่านอะไร: วิสัยทัศน์เรื่องการอ่านและนโยบายเกี่ยวกับวงการหนังสือ” โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายสกลธี ภัททิยกุล, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และน.ต.ศิธา ทิวารี เข้าร่วมเสวนา ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายสกลธีกล่าวว่า ตนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ชอบความรู้สึกของการจับและดมกลิ่นกระดาษ หากตนเป็นผู้ว่ากทม. จะลดความเหลือมล้ำในการอ่านของคนกรุงเทพฯ ต้องหมดไป หนังสือสมัยนี้บางเล่มราคาเกือบพัน ทำยังไงให้คนรักการอ่านเข้าถึงหนังสือให้ได้มากที่สุด โดยเน้นเรื่องงบประมาณในการพัฒนาห้องสมุด อีกทั้งห้องสมุดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ มีแค่ประมาณ 30 แห่ง ขณะที่กรุงเทพฯ มี 50 เขต
ดังนั้น เราต้องเอาห้องสมุดเข้าไปหาชุมชน คำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นหลัก มีหนังสือที่ดี การอ่านสร้างเศรษฐกิจ ตนเชื่อว่าคนที่อ่านหนังสือเหมือนมีพันชีวิต แต่คนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนมีชีวิตเดียว
น.ต.ศิธา กล่าวว่า ก่อนเข้ามาเล่นการเมือง ตนเป็นนักบินมาก่อน ซึ่งอาชีพนักบินต้องอ่านเยอะมาก เราต้องบาลานซ์การอ่าน คือ ไม่ปิดกั้นรับสิ่งใหม่ๆ และไม่อคติกับอดีต การให้คนเข้าถึงการอ่าน พัฒนาห้องสมุดที่ดี ทุกคนเข้าถึงได้ และสิ่งสำคัญคือ การพัฒนาการศึกษาของเด็กไทย ปัจจุบันไทยยังไม่สามารถทำให้การศึกษาของไทยดีกว่าชาติอื่นๆ
เราต้องทำให้การศึกษาเกิดความเสมอภาค โรงเรียนรัฐบาล คุณภาพต้องเทียมเท่าโรงเรียนเอกชน หากเป็นเช่นนั้นตนเชื่อว่าโรงเรียนที่ดีที่สุด คือ โรงเรียนใกล้บ้าน ช่วยลดปัญหาความเหลือมล้ำด้านการศึกษา และลดปัญหาการจราจรติดขัด
นายวิโรจน์ กล่าวว่า วาทกรรมว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด แต่วันนี้เราต้องชนะวาทกรรมนี้ได้แล้ว ดังนั้นหากวิสัยทัศน์การอ่านคือ เพียงแค่การสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงการอ่านได้สะดวก มีหนังสือที่ดี แต่สุดท้ายแล้วมันไม่สามารถแก้วัฒนธรรมการอ่านของคนไทยได้ เนื่องจากมีความอ่อนแอจากทัศนคติที่ดีจากการอ่าน เพราะพื้นฐานการอ่านจากโรงเรียน เป็นการอ่านแบบบังคับเพื่อให้สอบผ่าน การวิพากษ์วิจารณ์หนังสือสักเล่ม ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญถึงจะวิจารณ์ ได้ สิ่งสำคัญ คือ เสรีภาพในการเลือกอ่าน สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และการเคารพในความเห็นต่างได้
ปัจจุบันการขับเคลื่อนความคิดใหม่ๆ ยังคงผ่านสื่อตัวหนังสือ หากจะทำให้วัฒนธรรมการอ่านของไทยต้องเข้มแข็ง ต้องเริ่มจากโรงเรียน โดยเฉพาะในสังกัดกรุงเทพฯ ต้องปราศจากการบลูลี่ ต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่เสรีภาพ แต่ปัจจุบันแม้แต่หนังสือครูก็ไม่มีสิทธิ์ซื้อหนังสือเอง แต่รอให้เขตสั่งซื้อให้ ที่ผ่านมากทม. ไม่เคยนำเรื่องนี้มาใส่ใจเลย การจัดการเรียนการสอนควรลดการประเมิน เน้นความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มทักษะการใช้ชีวิต อุดหนุนค่าใช้จ่าย ให้นักเรียนค้นหาตัวเองให้เจอหากคิดอยู่ในกรอบแค่เอาหนนังสือเข้าถึงทุกคน มันจะยังอยู่ในกรอบของอดีต และเมื่อไหร่ที่ทุกพื้นที่มีเสรีภาพ เชื่อว่าวัฒนธรรมการอ่านจะเข้มแข็งขึ้น
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตของตนเองหากไม่อ่าน ซึ่งการอ่านเปลี่ยนชีวิตของคน ตนมองว่าห้องสมุดที่สวยที่สุด อยู่ในชุมชนแออัดย่านคลองเตย พื้นที่ประมาณ 70 ไร่ แม้จะเป็นห้องสมุดเล็กๆ แต่นี่คือจุดที่สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ เด็กสามารถเข้ามาอ่านได้ ดังนั้น อย่างแรกกทม. ต้องมีห้องสมุดที่มีคุณภาพทุกเขตทุกแขวง และขยายไปยังศูนย์เด็กเล็กทุกพื้นที่ รวมทั้งการอ่าน E-Book
นอกจากนี้ต้องมีบ้านหนังสือชุมชน ที่หนังสือสามารถเข้าถึงทุกคน เปลี่ยนประเทศได้ ต้องมีต้นทุนทางความคิด ที่หามาได้จากการอ่าน ห้องสมุดลงทุกน้อย แต่ได้ประโยชน์เยอะ เปลี่ยนความคิดของคนได้