5 กรกฎาคม จ่าย กยศ. วันสุดท้าย เปิดบทลงโทษกรณีผิดนัดชำระ พร้อมข้อมูลช่องทางเช็คหนี้ และชำระเงิน
วันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี เป็นวันครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำหรับผู้กู้ยืมที่จ่ายเงินแบบรายปี หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดชำระหนี้จะต้องชำระค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมจัดการกรณีผิดนัดชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนด
ช่องทางเช็คหนี้-ชำระเงินผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ได้ 3 วิธี คือ
1. ตรวจสอบยอดหนี้จากเว็บไซต์ของกองทุนฯ https://wsa.dsl.studentloan.or.th โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจ สอบยอดหนี้ปัจจุบันได้ด้วยตนเอง
2. แอปพลิเคชั่น “กยศ. Connect”
3. สามารถสอบถามยอดหนี้ที่ต้องชำระได้ที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ควรเช็คก่อนชำระคืนจะถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากยอดหนี้ที่ได้รับแจ้งหน้าเคาน์เตอร์ธนาคารนั้นจะเป็นยอดปัจจุบัน
ช่องทางชำระเงิน กยศ. และ กรอ.
1. ธนาคารกรุงไทย โดยสามารถเลือกหักผ่านบัญชีออมทรัพย์, จ่ายหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร, ตู้ ATM, อินเตอร์เน็ต (www.ktbnetbank.com), และแอปพลิเคชั่น Krungthai Next และเป๋าตัง
2. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยสามารถเลือกหักผ่านบัญชีออมทรัพย์, จ่ายหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร และตู้ ATM
3. ชำระด้วย QR code ผ่าน mobile banking ของทุกธนาคาร โดยต้องบันทึกภาพ QR code สำหรับชำระเงินจากแอปพลิเคชั่น กยศ. Connect มาไว้ก่อน
4. การชำระด้วยรหัสการชำระเงิน barcode ผ่านหน่วยงานรับชำระเงิน ดังต่อไปนี้ ไปรษณีย์ไทย บิ๊กซี เคาน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรี ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ทั้งนี้ ในการชำระหนี้ผู้กู้ยืมจะต้องเพิ่มเงินในส่วนของค่าบริการหรือค่าธรรมเนียม 10 บาท จากยอดที่จะต้องจ่ายไปด้วย เช่น ยอดที่จะต้องชำระหนี้ 1,000 บาท ผู้กู้ยืมจะต้องชำระหนี้ 1,010 บาท
เมื่อผู้กู้ยืมชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่ปรับปรุงในระบบแล้ว ภายใน 1 วันทำการถัดไป หากผู้กู้ยืมชำระเงินผ่านช่องทางอื่น ๆ สามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่ปรับปรุงในระบบแล้ว ภายใน 2 วันทำการถัดไป
ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้ที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และแอปพลิเคชันเป๋าตัง เท่านั้น
บทลงโทษผิดนัดชำระหนี้
บทลงโทษกรณีผิดนัดชำระหนี้ ตามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สู้ภัยโควิด ของ กยศ. (ถึง 31 ธันวาคม 2564) คร่าว ๆ มีดังนี้
1. มีอัตราการคิดเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี (ลดจาก 7.5% ต่อปี) สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
2. ถูกฟ้องดำเนินคดี แต่เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สู้ภัยโควิด จึงได้ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564
3. กรณีจะชำระหนี้ปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกรายที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100% ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดี ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีที่ https://www.studentloan.or.th/promotion ผู้กู้ยืมเงินต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี
4. สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี แต่ต้องการชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ ได้รับการลดเบี้ยปรับ 80%
5. ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว
6. ฟ้องดำเนินคดี แต่มาตรการสู้ภัยโควิด จะได้รับการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564
7. บังคับคดียึดทรัพย์ แต่มาตรการสู้ภัยโควิด จะงดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดยกองทุนจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี)