‘หมอเจตน์’นำคณะศึกษาดูงานระบบบริการ’รพ.ศิริราช-รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์’
วันพฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566, 21.42 น.
“หมอเจตน์”นำคณะศึกษาดูงานความก้าวหน้าการจัดระบบบริการ และนวัตกรรมด้านสุขภาพของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณ
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายแพย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ เฉลิมชัย บุญลีพรรณ ทันตแพทย์ พิทักษ์ไชยเจริญ นายบุญส่ง ไข่เกตุ พลโท อำพน ชูประทุม ทันตแพทย์ สุนี จึงวิโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา และ คณะที่ปรึกษาเดินทางศึกษาดูงานโรงพยาบาลศิริราช เพื่อรับฟังบรรยายสรุปและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความก้าวหน้า ประสิทธิภาพในการจัดระบบบริการของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศาสตราจารย์คลินิก นายแพย์วิศิษฎีกา วามวาณิชย์ ผู้อํานวยการโรงพยาบาลศิริราช และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ชาญ ศรีรัตนสถาวร ผู้อํานวยการโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ตลอดจนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ประเด็นสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ ประเด็นความก้าวหน้า ประสิทธิภาพในการจัดระบบบริการของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งพบว่า ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราช ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 135 ปี เป็นโรงพยาบาลของแผ่นดินและเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรก ให้การดูแลประชาชนทุกระดับ รวมทั้งเป็นองค์กรที่สร้างองค์ความรู้ในการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ รายได้ของโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจากการบริจาค และการสนับสนุนจากโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์เป็นหลัก ระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการจัดและให้บริการ รวมทั้งการพัฒนาด้านการศึกษาวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมุ่งเน้นกระจายการให้บริการสาธารณสุขและการรักษาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม ซึ่งมีการจัดทำโครงการสำคัญ เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จัดตั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต ณ ICONSIAM นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการพัฒนาการใช้ AI ในการคำนวณแคลอรี่ เพื่อป้องกันโรค NCDs การจัดทำระบบ SMART EMS และการจัดทำ Siriraj Stroke Center เป็นต้น
สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ก่อตั้งขึ้นเป็นเวลา 11 ปี โดยเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่มีการบริหารในรูปแบบพิเศษ ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง โดยรายได้ครึ่งหนึ่งนำมาใช้เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลศิริราช และอีกครึ่งหนึ่งสำหรับการพัฒนาและดูแลตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่เน้นด้านการให้บริการทางการแพทย์ มีการจัดทำระบบริการเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ สามารถรองรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยระบบบริหารจัดการเช่นนี้ ทำให้สามารถธำรงรักษาบุคลากรไว้ในระบบได้ ไม่ไหลไปสู่ภาคเอกชนเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นต้นแบบของการจัดทำระบบบริการที่ไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐแต่สามารถให้การสนับสนุนงบประมาณแก่โรงพยาบาลรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีความชื่นชมในการพัฒนาศักยภาพด้านการรักษาพยาบาล การศึกษาวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลศิริราชที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นไปเพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า การจะดำเนินการเพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการจัดและให้บริการ รวมทั้งการพัฒนาด้านนวัตกรรม ควรทำให้เกิดเอกภาพทางนโยบายด้านสาธารณสุข เนื่องจากการพัฒนาสาธารณสุขของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันตามศักยภาพของตน ดังนั้น โรงเรียนแพทย์จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศในแต่ละส่วนมีการพัฒนาไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบ
จากนั้น คณะกรรมาธิการได้ศึกษาดูงาน ณ Siriraj Open Innovation Lab อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 2 เพื่อศึกษาการพัฒนาและความก้าวหน้าของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน