- ฟิลลิปปา ร็อกบี
- ผู้สื่อข่าวสุขภาพ
ผลงานศึกษาจากสวีเดน ระบุว่า ผู้หายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้นเป็นเวลานาน 6 เดือน
งานวิจัยนี้พบว่า คนที่มีอาการป่วยโควิดที่รุนแรง และผู้ที่ติดเชื้อในช่วงการระบาดระลอกแรก มีความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงที่สุด
นักวิจัยระบุว่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการรับวัคซีนป้องกันการติดโรคโควิด-19
ผลการศึกษาที่สำคัญในสหราชอาณาจักรชิ้นหนึ่ง ระบุว่า แม้ว่า หลังรับวัคซีนแล้วยังมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกัน แต่ความเสี่ยงน้อยกว่ามาก
คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มีโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากกว่า โดยเฉพาะในคนไข้ที่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล นักวิทยาศาสตร์ต้องการที่จะค้นหาว่า ความเสี่ยงนี้จะลดลงสู่ระดับปกติเมื่อใด
บรรดานักวิจัยได้ติดตามสุขภาพของคนมากกว่า 1 ล้านคนที่มีตรวจพบเชื้อโรคโควิด ระหว่างเดือน ก.พ. 2020 ถึง พ.ค. 2021 ในสวีเดน และเปรียบเทียบกับประชาชน 4 ล้านคน ที่อยู่ในกลุ่มวัยและเพศเดียวกันที่ไม่เคยตรวจพบว่าติดเชื้อมาก่อน
หลังจากติดเชื้อโรคโควิด พวกเขาพบว่า มีความเสี่ยงสูงขึ้นในหลายอย่าง คือ :
- เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis–DVT)
- ป่วยเป็นโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดนานสูงสุด 6 เดือน
- เลือดออกภายในร่างกาย อย่าง อาการเส้นเลือดในสมอง นานถึง 2 เดือน
ตอนที่นักวิจัยเปรียบเทียบความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลังจากหายจากการติดโควิด กับระดับความเสี่ยงปกติ พวกเขาพบว่า :
- คนไข้โควิด 4 คน ในทุก ๆ 10,000 คน เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ส่วนคนที่ไม่ติดโควิดจะมีอัตราส่วนที่ 1 ใน 10,000 คน
- คนไข้โควิดราว 17 คน ในทุก ๆ 10,000 คน เกิดโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ส่วนคนที่ไม่ติดโควิดอยู่ที่อัตราส่วนไม่ถึง 1 ใน 10,000 คน
การศึกษานี้ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร BMJ ระบุว่า การเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีความเสี่ยงสูงขึ้นในผู้ป่วยโควิดจากการระบาดระลอกแรกมากกว่าระลอกต่อ ๆ มา น่าจะเป็นเพราะว่า การรักษาที่พัฒนาขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ และคนไข้สูงอายุเริ่มได้รับวัคซีนในช่วงการระบาดระลอกที่สอง
ควรรับวัคซีน
ความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดในคนที่มีอาการป่วยโควิดรุนแรงสูงกว่าในคนทั่วไป 290 เท่า ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง มีความเสี่ยงนี้สูงขึ้นกว่าระดับปกติ 7 เท่า แต่ไม่มีความเสี่ยงของอาการเลือดออกภายในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น
“สำหรับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน นั่นคือเหตุผลที่ดีในการรับวัคซีน ความเสี่ยงนี้สูงกว่าความเสี่ยงจากการรับวัคซีนมาก” แอนน์-มารี ฟอร์ส คอนนอลลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการศึกษานี้จากมหาวิทยาลัยอูเมโอ (Umea University) ในสวีเดน กล่าว
บรรดานักวิจัยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า โควิดเป็นสาเหตุให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในการศึกษานี้ แต่พวกเขามีหลายทฤษฎีที่บอกถึงสาเหตุการเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น
มันอาจจะเป็นผลโดยตรงจากเชื้อไวรัสต่อชั้นเซลล์ที่อยู่ในหลอดเลือด การตอบสนองต่อการอักเสบอย่างรุนแรงหลังติดเชื้อไวรัส หรือร่างกายสร้างลิ่มเลือดในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม
วัคซีนใช้งานได้ผลเป็นอย่างดีต่อการป้องกันโควิดที่มีอาการรุนแรง แต่ป้องกันการติดเชื้อได้ลดลง โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีการติดเชื้อซ้ำเป็นเรื่องปกติ ขณะที่หลายประเทศกำลังหาวิธีในการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด
เฟรเดริก เค โฮ อาจารย์ด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวว่า การศึกษานี้ “ย้ำเตือนเราถึงความจำเป็นในการระมัดระวังอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ [โควิด] แม้จะมีอาการไม่รุนแรง รวมถึงภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดด้วย”
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเพิ่มสูงขึ้นหลังการรับวัคซีน แต่ “ขนาดความเสี่ยง ยังคงน้อยกว่าและยังคงมีระยะเวลาที่สั้นกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการติดเชื้อ”