สพฐ. ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อม สานสายใยโรงเรียนพี่-น้อง ร่วมใจปลูกต้นไม้ 2,460 ต้น
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการปลูกต้นไม้ ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยมี ผศ.ดร.พระครูสังฆรักษ์ชวาล อาภากโร เจ้าอาวาสวัดใหม่ไร่ดง ผู้แทนองค์กรศาสนา นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. นายธเนศ นาเมือง ปลัดอำเภอชะอำ นายยอดเพชร ยามคง ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี นางสิริณิกุญช์ เพ็ชร์สุกใส ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี
.
สำหรับโครงการปลูกต้นไม้ ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อม พี่ปลูกป่าเพื่อน้อง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี (โรงเรียนน้อง) ได้ร่วมกับ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี (โรงเรียนพี่) จัดโครงการปลูกต้นไม้ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้มีใจรักต้นไม้ รักป่า หวงแหนทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนและชุมชน สร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศให้กับนักเรียนและชุมชน ในส่วนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรีนั้น ได้ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยได้ประสานขอรับต้นกล้าจาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานีเพาะชำกล้าไม้เพชรบุรี โดยมีต้นกล้าไม้พันธุ์ต่างๆ ประกอบด้วย 1) ต้นมะฮอกกานี จำนวน 50 ต้น 2) ต้นสักทอง จำนวน 100 ต้น 3) ต้นตะแบกดอกสีม่วง จำนวน 50 ต้น 4) ต้นยางนา จำนวน 100 ต้น 5) ต้นจามจุรี จำนวน 100 ต้น และ 6) ต้นพะยูง จำนวน 10 ต้น รวมทั้งหมด 410 ต้น และได้รับความอนุเคราะห์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี มอบพันธุ์ปลานิล จำนวน 20,000 ตัว
.
โดยโครงการนี้มีสถานที่ปลูกต้นไม้ 12 จุด ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ 1) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช 100 ต้น 2) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล 250 ต้น 3) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ปลูกป่าโกงกาง ณ บ่อหินฟาร์มสเตย์ จังหวัดตรัง 100 ต้น วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ณ 4) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 62 จังหวัดเชียงราย 50 ต้น 5) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก 300 ต้น 6) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 33 จังหวัดลพบุรี 300 ต้น 7) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 จังหวัดเลย 300 ต้น 8) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 32 จังหวัดอุบลราชธานี 250 ต้น 9) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ 200 ต้น 10) โรงเรียนฟ้าใสวิทยา จังหวัดนครปฐม 60 ต้น 11) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี 410 ต้น และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 12) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ปลูกป่าโกงกาง ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี จำนวน 200 ต้น รวมต้นไม้ที่ปลูก จำนวน 2,460 ต้น
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้นโยบายในการนำข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติ ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ในเรื่องการให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ไปสู่การปฏิบัติ จึงทำให้เกิดโครงการปลูกต้นไม้ ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ของกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้มีใจรักต้นไม้ รักป่า หวงแหนทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่สร้างพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนและชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศให้กับนักเรียนและชุมชน ต่อไป
.
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ตนเห็นว่าโครงการปลูกต้นไม้ ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกจิตสำนึกของประชาชน ช่วยแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ ได้หันมาให้ความสนใจและร่วมแรงร่วมใจกันปลูกต้นไม้เพื่อลดปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจังมากขึ้น และรู้สึกดีใจที่เห็นภาคเอกชนและภาครัฐเสียสละเวลาในวันหยุด มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อมในวันนี้ โดยต้นไม้แต่ละต้นกว่าจะเติบโตก็ต้องใช้เวลา และการเอาใจใส่ ต้องอาศัยแรงสนับสนุน ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายอีกเป็นอันมาก ครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งได้มีผู้สนับสนุนงบประมาณ สิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว คาดหวังว่าครั้งต่อๆ ไป จะได้รับการสนับสนุนเช่นนี้อีก ตามกำลัง ตามสถานการณ์ และโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละคนต่อไป
.
“ต้องขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนทุกท่าน ทั้งกรมป่าไม้ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ฯ สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาตร์ศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่ได้จัดโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นความตั้งใจ การร่วมแรงร่วมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของโรงเรียนพี่และโรงเรียนน้อง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้มีใจรักต้นไม้ รักป่า หวงแหนทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนและชุมชน สร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศให้กับนักเรียนและชุมชน รวมถึงผู้ที่สนับสนุนให้การจัดโครงการครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานีเพาะชำกล้าไม้เพชรบุรี ที่ให้การสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอำนวยความสะดวกในฐานะเจ้าของบ้าน ดิฉันหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้สถานศึกษาอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติในบริบทพื้นที่ของตนเองต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- About
- Latest Posts
Latest posts by นายบวรศักดิ์ สาลีฉันท์ (see all)
- Line