สพฐ. หนุนกิจกรรมเสริมสร้างคุณลักษณะรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สร้างพื้นที่สีเขียวด้วยมือนักเรียน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกต้นไม้ ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green School Green Community) ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีกิจกรรมเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติและการอนุรักษ์ป่าชายเลน และกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ของนักเรียนและบุคลากร จำนวน 200 ต้น
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้นโยบายในการนำข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติ ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ในเรื่องการให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ไปสู่การปฏิบัติ โดย รมว. ศธ. ได้ให้ความสำคัญกับป่า ซึ่งมีหลักใหญ่ ๆ 2 หลัก ได้แก่ การรักษา โดยช่วยกันเฝ้าระวังดูแลรักษาอย่าให้คนไปบุกรุกทำลาย ให้ป่าสร้างตัวเองขึ้นมาตามธรรมชาติ และการปลูกคือสิ่งที่สังคมพยายามทำ แต่ทำแบบหลงทาง ปลูกแล้วก็ทอดทิ้ง ดังนั้นโครงการปลูกต้นไม้ ปลูกใจรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green School Green Community) ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จึงเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้มีใจรักต้นไม้ รักป่า หวงแหนทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลาย มีการเฝ้าบำรุงรักษา ให้เจริญเติบโตร่วมกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนฯ นำไปสู่การสร้างพื้นที่สีเขียวในท้องถิ่น และยังเป็นการเสริมสร้างคุณลักษณะในนการรักษ์สิ่งแวดล้อมของนักเรียนตามอุดมการณ์เป้าหมายโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ป่าโกงกาง ยังมีประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศในป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่วางไข่ของสัตว์น้ำ เพิ่มแหล่งอาหารและแหล่งสมุนไพร เป็นพื้นที่กรองน้ำและขยะสู่ทะเล ทั้งยังช่วยลดแรงปะทะของลมลดการกัดเซาะของน้ำ ที่สำคัญยังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและคนในพื้นที่ใกล้เคียง ผลจากการปลูกป่าโกงกางทำให้มีกุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้น เพราะป่าโกงกางเป็นต้นกำหนดของสัตว์ทะเล ยังช่วยดูซับลมร้อน และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศจนเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย
.
ต้องขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนทุกท่าน ทั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา ชลบุรี ระยอง สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ที่ได้จัดโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นความตั้งใจ การร่วมแรงร่วมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของโรงเรียนและและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้มีใจรักต้นไม้ รักป่า หวงแหนทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนและชุมชน สร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศให้กับนักเรียนและชุมชน ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำในครั้งนี้ยังมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่สร้างขยะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดิฉันหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคตเป็นวงกว้าง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้สถานศึกษาอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติในบริบทพื้นที่ของตนเองต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- About
- Latest Posts
Latest posts by นายบวรศักดิ์ สาลีฉันท์ (see all)
- Line