“หมอธี” เผยผลตรวจสอบพบทำผิดทีโออาร์ เตรียมส่งข้อมูลถึง ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมาย
วันที่ 31 มี.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจาก พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทุจริต ศธ. ว่า จากการลงพื้นที่ 5 โรงเรียนใน จ.สงขลาและ จ.ปัตตานี ตรวจสอบการดำเนินโครงการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในโครงการ Safe Zone School 12 เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินการโดย 4 บริษัทนั้น
จากการตรวจสอบพบว่าของที่โรงเรียนตรวจรับ ไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง หรือทีโออาร์ โดยในทีโออาร์ระบุว่า ระบบต้องมีซอฟต์แวร์ สามารถรองรับกล้องวงจรปิดได้ไม่น้อยกว่า 16 กล้อง แต่การตรวจสอบพบว่า มีซอฟต์แวร์รองรับได้แค่ 6 กล้อง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และไม่ตรงกับที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานมาว่า รองรับได้ 6 กล้องถูกแล้ว โดยในสัปดาห์หน้าตนจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เรื่องนี้สาวถึงใครคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ
ทั้งนี้ โครงนี้ดำเนินการในโรงเรียน 1,104 แห่ง ๆละ 16 จุด เมื่อ License หรือ ระบบที่รองรับหายไปแห่งละ 10 จุดๆละ 5,500 บาท รวมมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 67 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าตัวเงินไม่สำคัญ แต่เมื่อมีการทุจริตขึ้นมาเราก็ไม่ยอม และยืนยันว่างานนี้ไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน
ด้าน พล.ท.โกศล กล่าวว่า ตนพร้อมทีมกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้ลงไปตรวจในโรงเรียน 5 แห่ง ที่ดำเนินการโดย 4 บริษัทซึ่งประมูลได้ในโรงเรียน 1,104 แห่ง โดยเน้นดูในเรื่องเอ็นวีอาร์ (NVR) หรือ License ซึ่งมีปัญหา เพราะข้อกำหนดคุณลักษณะของ License ที่ระบุไว้ต้องสามารถบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด ชนิด IP Network Camera ได้ไม่น้อยกว่า 16 กล้อง แต่ทั้ง 4 บริษัท ติดตั้งโปรแกรมที่ได้รับลิขสิทธิ์ถูกต้อง เพื่อใช้กับเครื่องบันทึกเพียง 6 License เท่านั้น มีผลทำให้กล้องสามารถบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดชนิด IP Network Camera ได้เพียง 6 กล้อง
…ซึ่งหากในอนาคต ศธ.เห็นว่าจำเป็นต้องติดตั้งกล้องเพิ่ม มากกว่า 6 กล้อง จะต้องเสียงบประมาณในการจัดซื้อโปรแกรม ที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทไม่ได้ออกแบบหรือติดตั้งโปรแกรม ให้สามารถดูภาพผ่าน Web Browser ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามเอกสารทีโออาร์ ที่กำหนดให้บริษัทฯ คู่สัญญาต้องออกแบบระบบเน็ตเวิร์คภายในโรงเรียน/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เพียงพอกับการเชื่อมต่อระบบควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดซีซีทีวี แบบดิจิทัล ด้วย
“บริษัทที่มาติดตั้งกล้องวงจรปิดทำผิดทีโออาร์ คือติด License ไม่ครบ ขณะที่คณะกรรมการตรวจรับ ก็ตรวจรับไม่เป็นไปตามทีโออาร์ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ให้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ ซึ่งอาจจะมีการตรวจสอบขยายผลไปยังจุดอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง License และ Web Browser ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ” พล.ท.โกศล กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ