‘ฟรีดอมเฮาส์’ เผยแพร่รายงานเรื่องอิทธิพลรัฐบาลจีนต่อสื่อทั่วโลกปี’65 แต่จากการสืบค้นไม่พบไทยในรายชื่อ 30 ประเทศที่ได้รับการศึกษา และการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า หนึ่งในหลักเกณฑ์คัดเลือก คือ ต้องเป็นประเทศเสรี/กึ่งเสรี ขณะที่ไทยถูกจัดเป็นประเทศ ‘ไม่เสรี’ ตามดัชนีเสรีภาพโลกปี’64 แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่เคยถูกศึกษาในประเด็นดังกล่าว
16 ก.ย. 2565 รายงานฉบับนี้เป็นการประเมินประจำปีของฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินการในปีแรก ประเทศที่ถูกศึกษาโดยฟรีดอมเฮาส์ ใน 6 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล ชิลี โคลัมเบีย ฝรั่งเศส กานา อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล อิตาลี เคนยา คูเวต มาเลเซีย เม็กซิโก โมซัมบิก ไนจีเรีย ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โรมาเนีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ สเปน ศรีลังกา ไต้หวัน ตูนีเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ประเทศเหล่านี้ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา ยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สรุปรายงานบนเว็บไซต์ระบุว่า 16 จาก 30 ประเทศพบการแทรกแซงสื่อโดยรัฐบาลจีนในระดับ “สูง” หรือ “สูงมาก” ระยะเวลาของการเก็บข้อมูลเริ่มตั้งแต่ ม.ค. 2562-ธ.ค. 2564 ในช่วงดังกล่าว 18 ประเทศที่มีการศึกษาพบว่า รัฐบาลจีนยกระดับความพยายามในการแทรกแซงสื่อเพิ่มขึ้นตลอด 3 ปี
ไม่พบ ‘ไทย’ ในรายงาน
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประเทศถูกนำมาศึกษามี 4 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือประเทศเหล่านี้จะต้องได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศ “เสรี” หรือ “กึ่งเสรี” ตามดัชนีเสรีภาพโลก เนื่องจากผู้จัดทำรายงานไม่ได้ต้องการศึกษาเพียงแค่การชักจูงสื่อของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น แต่ยังต้องการดูมาตรการรับมือและผลกระทบจากการชักจูงสื่อโดยรัฐบาลจีน ที่มีต่อสภาพแวดล้อมความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ที่ถูกศึกษาด้วย
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบดัชนีเสรีภาพโลกของฟรีดอมเฮาส์ ประจำปี 2565 พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศ “ไม่เสรี” ได้คะแนนภาพรวมเพียง 29 จาก 100 คะแนน ในด้านสิทธิทางการเมืองพบว่า ไทยได้เพียง 5 จาก 40 คะแนน ส่วนเสรีภาพพลเมืองได้เพียง 24 จาก 60 คะแนน ลดลงจากปี 2563 ที่ไทยยังถูกจัดเป็นประเทศ “กึ่งเสรี” โดยได้คะแนนภาพรวม 32 จาก 100 คะแนน ในด้านสิทธิทางการเมืองได้ 6 จาก 40 คะแนน ส่วนเสรีภาพพลเมืองได้ 26 จาก 60 คะแนน
เว็บไซต์พูดถึงเหตุการณ์สำคัญด้านเสรีภาพของประเทศไทยในปี 2564 เช่น การแก้กฎหมายทำแท้ง การตัดสินว่าชุมนุม 10 ส.ค. 2563 เป็นการล้มล้างการปกครองของศาลรัฐธรรมนูญ และ การพิพากษาจำคุกอัญชัญ ปรีเลิศ 43 ปี ในข้อหามาตรา 112 เป็นต้น
อัญชัญ ปรีเลิศ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 43 ปี 6 เดือน ในคดี ม.112
“หลัง 5 ปีของระบอบเผด็จการทหาร ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐบาลที่ถูกครอบงำโดยทหารและเป็นแบบกึ่งเลือกตั้งในปี 2562 การมาบรรจบกันของความถดถอยทางประชาธิปไตยและความกังวลต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการบริหารปกครองของไทยนำไปสู่การประท้วงใหญ่หลังจากนั้น ในการตอบโต้ รัฐบาลใช้กลยุทธ์อำนาจนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น การจับกุมโดยอำเภอใจ การข่มขู่ การฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการคุกคามนักกิจกรรม เสรีภาพสื่อถูกจำกัด วิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมายไม่ได้รับการรับรอง และมีการไม่ต้องรับผิดสำหรับอาชญากรรมที่กระทำต่อนักกิจกรรม” ฟรีดอมเฮาส์ ระบุเกี่ยวกับภาพรวม
นอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วยังมีหลักเกณฑ์อีก 3 ข้อ ประกอบด้วย
หลักเกณฑ์ข้อ 2 ได้แก่ ความหลากหลายของประเทศที่ศึกษาในด้านภูมิศาสตร์ ภาษา และลักษณะความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับจีน เช่น เป็นมิตรหรือศัตรู เป็นสมาชิกของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือไม่ เป็นหุ้นส่วนหลักหรือหุ้นส่วนรองในด้านการค้าและการลงทุน
หลักเกณฑ์ข้อ 3 ได้แก่ ประเทศที่มีหลักฐานของอิทธิพลจีนต่อสื่ออย่างชัดเจน และมีกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นภูมิต้านทานต่ออิทธิพลสื่อหรืออิทธิพลทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
หลักเกณฑ์ข้อ 4 ได้แก่ ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และขนาดของประชากร หากประเทศมีประชากรขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ยุทธศาสตร์ชักจูงสื่อของจีน
จากการศึกษาของฟรีดอมเฮาส์ พบร่องรอยของรัฐบาลจีนในการชักจูงสื่อเป็นวงกว้างมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนและกลุ่มตัวแทนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคยังใช้กลยุทธ์ที่ซับซ้อนและมีลักษณะแกมบังคับ เพื่อเปลี่ยนเรื่องเล่าในพื้นที่สื่อและปราบปรามการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นด้วย โดยใช้ยุทธศาสตร์ในการชักจูงสื่อต่างประเทศ 5 แบบด้วยกัน ประกอบด้วย
1. การโฆษณาชวนเชื่อและส่งเสริมเรื่องเล่าที่มีลักษณะอันพึงประสงค์ ผ่านช่องทางทั้งแบบเปิดเผย แบบลับ แบบทางตรง และแบบทางอ้อม เพื่อเผยแพร่เนื้อหาที่รัฐบาลจีนเป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ชักจูง ให้กับกลุ่มผู้ฟังในประเทศเป้าหมาย เช่น การจ่ายเงินซื้อโฆษณา (advertorial) การผลิตเนื้อหาร่วมกัน ข้อตกลงเพื่อการเผยแพร่เนื้อหาร่วมกัน เป็นต้น
2. การจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือชักจูงให้เข้าใจผิด (disinformation) การกระทำนี้มักใช้บัญชีปลอมเพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ
3. การปิดกั้นและข่มขู่ เช่น การลิดรอนสิทธิสื่อมวลชนภายในประเทศจีน และการขู่บังคับรูปแบบต่างๆ ของตัวแสดงที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนในต่างประเทศ รวมถึงการลงโทษพฤติกรรมการเสนอข่าวหรือความคิดเห็นที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ในต่างประเทศ
4. การควบคุมแพลตฟอร์มที่เอาไว้ใช้เผยแพร่เนื้อหา โดยหลักแล้วดำเนินการโดยบริษัทสัญชาติจีนที่รัฐเป็นเจ้าของ หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีส่วนในการปิดกั้นที่มีแรงจูงใจมาจากการเมืองหรือสอดแนมทั้งในจีนและในต่างประเทศ
5. การเผยแพร่บรรทัดฐานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรูปแบบการบริหารปกครองของประเทศจีน เช่น การฝึกฝนนักข่าวและเจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ เกี่ยวกับแนวทาง “การบริหารจัดการข่าว” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือการส่งออกเครื่องมือคัดกรองเว็บไซต์ต่างๆ
ฟรีดอมเฮาส์ พบอีกว่า แต่ละประเทศมีภูมิต้านทานต่อยุทธศาสตร์เหล่านี้แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล จาก 30 ประเทศที่มีการศึกษา เพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีภูมิต้านทานเพียงพอ (Resilient) ต่อการต้านทานอิทธิพลการชักจูงสื่อของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือได้รับการจัดอันดับว่าเปราะบางต่ออิทธิพลการชักจูงดังกล่าว
ไต้หวัน เป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายการชักจูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากที่สุด แต่ก็มีมาตรการตอบโต้ในระดับสูงสุดเช่นเดียวกัน รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา ตกเป็นเป้าหมายการชักจูงเป็นอันดับ 2 และมีมาตรการตอบโต้ในระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 เช่นกัน ส่วนประเทศที่เปราะบางต่ออิทธิพลการชักจูงสื่อที่สุดของรัฐบาลปักกิ่ง ได้แก่ ประเทศไนจีเรีย
ทั้ง 30 ประเทศที่มีการศึกษา พบจุดเปราะบางต่ออิทธิพลการชักจูงสื่อของจีนอย่างน้อย 1 ข้อ จุดเปราะบางที่พบมากที่สุดคือการขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิทธิพลการชักจูงสื่อของจีน (23 ประเทศ) ตามมาด้วยการโจมตีสื่อในประเทศที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2562 (19 ประเทศ) การขาดกฎหมายกำกับดูแลการเป็นเจ้าของธุรกิจไขว้กันไปมา (17 ประเทศ) และความโปร่งใสด้านการเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อต่ำ (15 ประเทศ) และมาตรการรับมือที่เป็นปัญหา (14 ประเทศ)
ฟรีดอมเฮาส์ ระบุว่า กุญแจสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันต่ออิทธิพลการชักจูงสื่อของจีน ได้แก่ การมีสื่ออิสระ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ที่คอยยกระดับความโปร่งใส รับรองให้มีการนำเสนอข่าวจากหลากหลายแง่มุม และเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีนในประเทศของตน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องมีกฎหมายที่รับรองและดูแลเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร และระเบียบเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะแทนที่จะออกมาตรการรับมือที่เหมาะสม ใน 23 ประเทศพบว่าผู้นำทางการเมืองโจมตีสื่อในประเทศ หรือฉวยโอกาสจากความกังวลอันชอบธรรมที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการชักจูงเพื่อนำไปสู่การออกข้อห้ามลิดรอนสิทธิตามอำเภอใจ รวมถึงการโจมตีสื่อที่นำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือเติมเชื้อไฟ เพื่อสร้างกระแสต่อต้านชาวต่างชาติ
แล้ว ‘ไทย’ เคยถูกพูดถึงว่าอย่างไร
แม้ไทยจะไม่ได้ถูกศึกษาในรายงานฉบับล่าสุด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยไม่เคยถูกศึกษาในประเด็นดังกล่าว
รายงานเรื่อง “ความพยายามของจีนในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมข้อมูลในประเทศไทย” จัดทำเมื่อ ก.ย. 2563 โดยซีเอ็นเอ คณะทำงานระดับสมองที่เชี่ยวชาญประเด็นด้านความมั่นคงและก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่าจีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลชักจูงสื่อไทยผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดทำความร่วมมือเพื่อนำเสนอข่าวของซินหัว โดยมีสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงนับสิบแห่งในประเทศไทยเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวของรัฐ หรือสื่ออิสระในเครือของมติชน
สถานทูตของจีนในกรุงเทพฯ สนับสนุนงบประมาณให้แก่สมาคมนักข่าวหลายแห่งในประเทศไทย (TJA) และเชิญชวนให้นักข่าวไทยเข้าร่วมโครงการฝึกและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในประเทศจีน ข้อมูลของสถานทูตสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐอเมริกามีการจัดการโครงการฝึกนักข่าวไทยในรูปแบบงานเสวนาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จีนพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยด้วย ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาโครงข่าย 5G กับหัวเว่ย โดยหัวเว่ย เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้ว
ภาพข่าว สถานทูตสหรัฐอเมริการ่วมงานกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 (ที่มา: สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย)
ท่ามกลางความพยายามเหล่านี้ ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในความเห็นของซีเอ็นเอ คือ การที่บริษัทสัญชาติจีนพยายามหาช่องโหว่ทางกฎหมายของไทยในการเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อต่างๆ ในประเทศไทย ด้วยการให้คนไทยจดทะเบียนบริษัทลูกเพื่อเป็นเจ้าของสื่อไทย แต่แท้จริงแล้วในทางปฏิบัติ บริษัทลูกเหล่านี้อยู่ในการควบคุมของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน เช่น บริษัท Tencent และ Global CAMG ผู้เชี่ยวชาญในประเทศแสดงความกังวลว่าประชาชนยังไม่รับทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก และสื่อที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเป็นของจีนในทางปฏิบัติ เช่น Sanook และ 103 Like FM เป็นต้น
จากอิทธิพลต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมเรื่องเล่าในแบบที่รัฐบาลจีนพึงประสงค์ เพื่อผลประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การตั้งคำถามต่อสื่อตะวันตกที่นำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำและเจตนาของจีน การนำเสนอว่าความร่วมมือกับจีนให้ประโยชน์แก่ประเทศไทย และการนำเสนอว่าจีนเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมโลก
แม้ทางการไทยและประชาชนไทยบางส่วนจะให้การต้อนรับต่ออิทธิพลของจีน โดยเห็นว่าข้อมูลจากจีนเป็นทางเลือกทดแทนมุมมองแบบตะวันตก แต่การขยายอิทธิพลของจีนก็เผชิญกับโจทย์ท้าทายเช่นกัน เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังตั้งคำถามต่อประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) และกระแสต่อต้านจีนในโลกออนไลน์ เช่น แฮชแท็กพันธมิตรชานม และความไม่พอใจต่อจีนหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ประเด็นน่าจับตาในสายตาของซีเอ็นเอ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คือ อุตสาหกรรมสื่อไทยอยู่ในภาวะตึงเครียดทางด้านการเงิน โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้บริษัทในร่มอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาลงทุนได้ ทั้งโดยถูกกฎหมายและโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีข้อบ่งชี้ด้วยว่าการนำเสนอข่าวของซินหัวไทย ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น สื่อของจีนอาจขยายขอบเขตการนำเสนอข่าวของตนเองมาสู่การนำเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยเพื่อเพิ่มฐานผู้อ่านในประเทศไทย และอาจเข้ามามีอิทธิพลในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยมากขึ้นด้วย
แนวโน้มเหล่านี้เป็นจริงมากแค่ไหน รายงานของสื่อเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) เมื่อปีที่แล้ว (2564) รายงานไปลักษณะเดียวกัน ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่า เรื่องเล่าของจีน ข้อมูลเท็จจากจีน และการโฆษณาชวนเชื่อจากจีน เข้ามาสู่ภาคส่วนต่างๆ ของไทยมากขึ้น ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมา ได้แก่ คลิปวิดิโอที่ความจริงแล้วเป็นเหตุการณ์จลาจลในเรือนจำเอกวาดอร์ แต่ถูกนำมาบิดเบือนเป็นว่าชาวอเมริกันทำร้ายคนจีน ข้อความเกี่ยวกับคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทย และเผยแพร่ทั่วไปอยู่ในแอปพลิเคชัน ‘LINE’
ลิลลี่ ลี นักวิจัยอิสระที่ศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งข้อสังเกตในรายงานของเรดิโอฟรีเอเชียว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของจีนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มุ่งนำเสนอว่าระบบการบริหารจัดการโรคระบาดของจีนมีประสิทธิภาพเหนือกว่าตะวันตก และการอ้างเหตุการณ์ทำร้ายชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกามารับใช้เป้าหมายการโฆษณาชวนเชื่อของตนเอง อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของจีนนั้นทำแยบยลกว่ารัสเซีย ซึ่งมักดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐบาลรัสเซียเท่านั้น ของจีนต่างออกไป เพราะเครือข่ายการจัดทำและเผยแพร่กระจายตัว และบางส่วนดำเนินการโดยเอกชน
น่าเสียดายที่ไทยไม่ได้ถูกศึกษาในรายงานของ “ฟรีดอมเฮาส์” ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การยกระดับความโปร่งใส การออกระเบียบเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสื่ออย่างเหมาะสม และการพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างภูมิต้านทานต่อการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลเท็จ อิทธิพลของจีนในการชักจูงสื่อไทยนับว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง น่าสนใจว่าหลังจากนี้จะมีงานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาอีกหรือไม่และอย่างไร บทบาทของจีนในสื่อไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะส่งผลต่อเสรีภาพสื่อและเสรีภาพแสดงออกในภาพรวมเป็นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้สาธารณชนต้องช่วยกันจับตาอย่างใกล้ชิด
แปลและเรียบเรียงจาก
https://freedomhouse.org/report/beijing-global-media-influence/2022/authoritarian-expansion-power-democratic-resilience
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4654217
https://www.cna.org/reports/2020/09/IIM-2020-U-026099-Final.pdf
https://th.usembassy.gov/u-s-embassy-partners-with-thai-journalists-association/
https://www.rfa.org/english/news/china/thailand-infowars-05132021072939.html