เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการด้านสร้างเสริมพันธมิตรและเครือข่ายองค์ความรู้ของ GISTDA กล่าวว่า การทดลองทางวิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้ของ GISTDA และพันธมิตร จะใช้เป็นต้นแบบและแนวทางในการทดลองงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ หรือ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ที่เรียกว่า High-Altitude Experiment Platform ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศ (Space Experiment Platform) ของ GISTDA เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการให้บริการการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ซึ่งการทดลองครั้งนี้ นอกจากจะสร้างรูปแบบการศึกษาวิจัยที่ไม่ได้อยู่ในห้องแลปหรือบนพื้นโลกแล้ว ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาใช้ประโยชน์ห้วงอากาศที่มีความสูงที่เลยเพดานบินขึ้นไปและไม่ถึงอวกาศ คืออยู่ระหว่าง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และการใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้กับประเทศต่อไปในอนาคต
.
การศึกษาในครั้งนี้ นอกจากเราจะใช้อาหารในการทดสอบแล้ว เรายังสามารถนำงานด้านชีวะและฟิสิกส์มาทดลองได้ด้วย อาทิ การทดลองทำฟาร์มลอยฟ้าในอวกาศด้วยบอลลูนเพื่อรับบรรยากาศที่สะอาดกว่าบนพื้นโลก เป็นต้น และอาจจะนำไปสู่แนวความคิดใหม่ๆ ของการวิจัยและการทดลองทางเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะดาวเทียมเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การทดลองรับส่งสัญญาณของระบบนำทาง การติดตามหรือขับเคลื่อนรถยนต์จากชั้นบรรยากาศอวกาศ ซึ่งเราอาจเรียกรวมๆ ได้ว่า “เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน high altitude platform ของประเทศ อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงเศรษฐกิจและยกระดับการรับรู้ของสังคมให้รับรู้ว่า การทดลองงานวิจัยด้านอวกาศ การทดลองในเทคโนโลยีอวกาศ ที่เป็นเรื่องธรรมดาและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป” ซึ่งใครๆ ก็สามารถทำการทดลองศึกษาวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆ แขนงสาขาวิชา ตลอดจนด้านธุรกิจ เพราะการส่งบอลลูนกระทำได้ไม่ยากและราคาไม่สูงเท่าการส่งวัตถุออกไปนอกโลกด้วยจรวดขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ GISTDA สามารถนำเอา high-altitude balloon platform มาให้บริการเพื่อการศึกษาวิจัยด้านอาหารได้แล้ว ก็จะสามารถต่อยอดไปจนถึงการทดลองทางเทคโนโลยีด้านอื่นๆ อาทิ ระบบโลจิสติกส์ ระบบการสื่อสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ครอบคลุมหรือมีเครือข่ายขนาดใหญ่ หรือขยายไปถึงการท่องเที่ยวในชั้นบรรยากาศอวกาศได้ในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น
.
รองผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อไปอีกว่า การส่งบอลลูน high-altitude เพื่อภารกิจด้านวิทยาศาสตร์อวกาศไปที่ชั้นบรรยากาศอวกาศสูงๆ เหนือพื้นโลกหรือเหนือเพดานบินขึ้นไปยังเป็นอะไรที่คนไทยไม่เคยทำ ที่ผ่านมาอาจจะมีการส่งบอลลูนมาบ้าง แต่กับด้านวิทยาศาสตร์อวกาศแล้วครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และเป็นการเป็นการเริ่มต้น space experiment platform ให้กับประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่จุดที่เราเริ่มมองเห็นและเข้าใจว่า การขึ้นไปในอวกาศยังมีอะไรอีกมากที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเราได้ ทั้งทางด้านการศึกษา งานวิจัย เทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
.
การทดลองวิจัยในชั้นบรรยากาศอวกาศ หรือที่ตำแหน่งสูงจากพื้นโลกในระยะตั้งแต่ 30 – 100 กิโลเมตร ก่อนที่จะออกไปสู่อวกาศจริงๆ แบบ 100% จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศที่ประเทศเรายังไม่เคยมี เทคโนโลยีอวกาศที่จากนี้เราจะพัฒนาและทดลองได้เองในสภาวะที่ใกล้เคียงอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นการพัฒนาชิ้นงานและทดสอบแบบ space grade จริงๆ และนอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนกิจการด้านอวกาศที่ประเทศไทยกำลังจะมี พ.ร.บ. กิจการอวกาศ และการพัฒนาแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติก็จะมีคุณค่าและความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแผนการวิจัยในระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System (ESS) ที่เป็นแผนชาติด้านการวิจัยขั้นสูง (Frontier Research) ของประเทศด้วย
.
ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการของ GISTDA หัวหน้าโครงการ National Space Exploration เปิดเผยว่า จริงๆแล้ว อาหารไทยทุกชนิดและทุกประเภทมีความสำคัญที่ควรจะต้องนำไปทดลองศึกษาถึงคุณค่าทางอาหารในอวกาศ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับความรู้ว่าคุณค่าและสารอาหารแบบไหนที่จะหายไปหรือมีผลกระทบใดๆ ต่อสภาวะในอวกาศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้อาหารไทยที่นอกจะได้ชื่อว่าเป็นครัวโลกแล้วก็จะกลายไปเป็นครัวอวกาศได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งก็คือการศึกษาด้านอาหารไทยในอวกาศจะนำไปสู่การผลิตอาหารให้กับนักบินอวกาศได้ต่อไปนั่นเอง ดังนั้น เหตุผลที่เราเลือกผัดกะเพรามาใช้ในการทดลองก็เพราะว่าเราสามารถใช้อาหารอะไรก็ได้ในท้องตลาด และผัดกะเพราถือเป็นอาหารพื้นฐานที่ขึ้นชื่อของคนไทยที่รสชาดอร่อย ปรุงง่าย ราคาไม่แพง
.
สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เราส่งงานวิจัยไปที่ระดับชั้นบรรยากาศอวกาศของโลกด้วยการปล่อยไปกับบอลลูนให้ลอยขึ้นไปที่ความสูงประมาณ 30-33 กิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ GISTDA เคยส่งงานวิจัยไทยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มาแล้ว ถ้ายังจำกันได้คือ “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ National Space Exploration (NSE) ของ GISTDA และนั่นเป็นครั้งแรกของประเทศที่งานวิจัยไทยไปอวกาศมาแล้วจริงๆ ซึ่งผลการวิจัยยังคงดำเนินการศึกษาอยู่โดยไบโอเทค แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่งานวิจัยไทยจะถูกส่งไปทดลองที่ความสูงดังกล่าว และเป็นชั้นความสูงที่มีสภาวะที่ใกล้เคียงกับอวกาศ ส่วนผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร ผัดกะเพราไทยของเราจะสามารถทานได้ในอวกาศหรือไม่ หรือคุณค่าสารอาหารตัวใดจะหายไปหรือเพิ่มขึ้น ก็ต้องดูผลการวิจัยกันต่อไป แต่สิ่งสำคัญของการดำเนินงานในครั้งนี้ คือ “การสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ที่เรียกว่า High-Altitude Experiment Platform เพื่อใช้เป็นต้นแบบและแนวทางในการทดลองงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ” สำหรับผลการทดลองในครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
.
ดร. อัมรินทร์ฯ กล่าวเสริมอีกว่า high-altitude balloon ในปัจจุบันยังทำอะไรได้อีกมาก และในระยะเวลาอันใกล้นี้ คนไทยอาจจะได้เห็น GISTDA ทำการพัฒนาท่าอวกาศยานขนาดเล็ก หรือ Small Spaceport ที่ส่งดาวเทียมด้วยจรวดที่มีบอลลูนเป็นฐานยิงจรวด จุดเด่นคือ ไม่เปลืองพื้นที่ประเทศไทย ไม่มีการเวนคืนที่ดิน ประหยัด และปลอดภัย แล้วคอยติดตามชมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงที่จะพัฒนาโดย GISTDA และหน่วยงานพันธมิตรต่อไป