โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS) ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดโควตารับตรง 5 ที่นั่ง ในปีการศึกษา 2562
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกสภาสถาบัน เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า พร้อมมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน ด้านความเป็นเลิศด้านวิชาการ และด้านความสามารถพิเศษ จำนวน 20 ทุน พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ“Signing Ceremony” ระหว่างศ.ดร .สุรินทร์ คำฝอย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS) ศ.ดร .สุชัชวีร์สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และศาสตราจารย์ นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS) กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า King Mongkut’s International Demonstration School (KMIDS) เป็นโรงเรียนนานาชาติสายวิทยาศาสตร์แห่งแรกที่เน้นการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้สังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง มุ่งผลิตผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความพร้อมทั้งภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หลักสูตรการเรียนการสอนตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการนำมาตรฐานตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยนำมาผสมผสานเพื่อความเข้มข้นในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อีกทั้งยังมีการสอนแบบบูรณาการในวิชา STEM โดยใช้หลักสูตรของ Carnegie Mellon Robotics Academy มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก ด้าน Software Engineering และทักษะสำคัญเพื่อต่อยอดความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งระดับประเทศและระดับโลก โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนเป็นแหล่งวิจัยที่จะสร้างนักเรียนที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้มีนโยบายตั้งแต่แรกเริ่มในการให้โควตาเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา กล่าวคือ สามารถเข้าศึกษาต่อในคณะต่าง ๆ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ดังนั้น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (การรับนักเรียนแบบโควตา) เพื่อให้การจัดการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาสู่ระดับอุดมศึกษามีความต่อเนื่องและสอดคล้องกันในด้านวิชาการ เป็นไปตามนโยบายการศึกษาของชาติ ทั้งนี้ จึงได้ดำเนินการบันทึกความเข้าใจทางวิชาการขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ต่อไป
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 ทาง สจล. มีนโยบายให้โควตารับตรง แก่นักเรียนโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การบริหารจัดการของสถาบันฯ ที่มุ่งเป็นแล็บวิจัยและสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อสร้างนักเรียนที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสม เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและจบออกไปเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ
ล่าสุด โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยได้จัดสรรโควตาให้นักเรียน จำนวน 5 ที่นั่ง โดยให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะแพทยศาสตร์กำหนด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำร่องเปิดโควตา 4 คณะ รวมกว่า 105 ที่นั่ง แบ่งเป็น 1.คณะวิศวกรรมศาสตร์ 40 ที่นั่ง 2.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 15 ที่นั่ง 3.คณะวิทยาศาสตร์ 10 ที่นั่ง และ4.วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ 40 ที่นั่ง แบ่งเป็นหลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ 30 ที่นั่ง และหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ 10 ที่นั่ง
การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ได้ระบุแนวทางความร่วมมือในด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านส่งเสริมกิจกรรมวิชาการ โดยคณาจารย์และนักวิชาการจากคณะคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความรู้แก่นักเรียนโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ในด้านวิชาการ การจัดกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมต่าง ๆ ของทางคณะ และการศึกษาดูงานต่างๆ และนักเรียนโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า มีโควตาในการเข้าร่วมทำกิจกรรมค่ายต่างๆของ ทางคณะแพทยศาสตร์
ส่วนด้านการจัดการเรียนการสอนนั้น นักเรียนโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนร่วมหรือหรือกิจกรรมต่างๆ กับนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อีกทั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดให้มีการเรียนการสอนให้นักเรียนโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ในกลุ่มรายวิชา Pathway to KMITL เช่น Introduction to Medical Profession เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการผลิตแพทย์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ