SACICT ยกระดับภูมิปัญญาหัตถศิลป์ถิ่นภาคใต้ จากใจย่ายาย…สู่เครือข่าย คนรุ่นใหม่ ผลักดันผ้าทอนาหมื่นศรี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับตลาดยุคดิจิทัล
พฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 19.33 น.
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่าศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้พัฒนาวงการหัตถกรรมไทยในภูมิภาคต่างๆ ส่งเสริมให้คนในชุมชนทำงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น สร้างผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์รายใหม่ๆเข้าสู่ตลาดผ่านการเป็นสมาชิกของ SACICT พร้อมเพิ่มพูนทักษะในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการและทักษะการตลาดดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน สำหรับงานศิลปหัตถกรรม จ.ตรัง นั้น มีความโดดเด่นทั้งงานประเภทงานทอ ผ้าทอนาหมื่นศรี และงานจักสานผลิตภัณฑ์เตยปาหนันซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดยกระดับคุณภาพของชิ้นงานหัตถกรรมให้สามารถตอบโจทย์ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
SACICT เตรียมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น จ.ตรัง เช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และชุมชน โดยมีครูฯและทายาทฯ เป็นศูนย์กลาง การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้โดนใจผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงบางอย่าง แต่ยังคงคุณค่าของภูมิปัญญาไว้ อีกทั้ง SACICT ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการย้อมสีธรรมชาติเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้มีแผนจะเข้ามาสนับสนุนด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ แอพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มต่างๆ การจัดแสดงนิทรรศการและจำหน่ายสินค้า เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมปรับเปลี่ยนตัวเองให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
“ผ้าทอนาหมื่นศรี อยู่คู่ชาวตรังมากว่า 200 ปี โดยชาวบ้านในชุมชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมนี้ มี นางลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 ของ SACICT ผู้ซึ่งสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ผ้าทอนาหมื่นศรีของ อันมีเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการทอที่ขึ้นชื่อว่ายากมากโดยเฉพาะลายแก้วชิงดวง ที่เน้นการใช้ สีแดง-เหลือง ซึ่งเป็นคู่สีที่ตัดกันและสร้างความสดใสและเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ยังสืบสานต่องานผ้าทอนาหมื่นศรีไปยังเยาวชนในสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น มีการเรียนการสอนการทอผ้า เชื่อมโยงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เยาวชนรุ่นจิ๋วมาเป็นมัคคุเทศก์ตัวจิ๋วให้แก่ผู้มาท่องเที่ยว ก่อเกิดความรักความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์พื้นถิ่นและส่งต่อความภาคภูมิใจนี้ไปยังคนรุ่นต่อไปไม่รู้จบ”
ด้าน นายจิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ ผู้จัดการ Kachong Hills Tented Resort ภาคธุรกิจซึ่งนำงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่น จ.ตรัง ทั้งงานผ้า งานไม้ และงานจักสานมาใช้ประโยชน์อย่างกลมกลืน เช่น ใช้ผ้าทอนาหมื่นศรีมาเป็นเครื่องแบบของพนักงาน โดยมีการปรับดีไซน์และรูปแบบให้เรียบง่าย และดูทันสมัยมากขึ้น เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน หัวใจสำคัญคือ การคัดสรรสินค้าท้องถิ่นและงานศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองที่เป็นงานออกแบบยุคใหม่มาผสมผสานเข้ากับแรงบันดาลใจใช้ในการตกแต่งและเป็นของใช้ในรีสอร์ทซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สำหรับโอกาสทางการตลาดของงานศิลปหัตถกรรมโดยชุมชนนั้น มองว่ามีอนาคตสดใส หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเป็นลำดับและการท่องเที่ยวกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ย่อมเป็นการขยายโอกาสในสินค้าชุมชนไปสู่กลุ่มธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารและคาเฟ่.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%