เจาะลึกการทำครัวเพื่อการพาณิชย์-รู้กฎหมายธุรกิจต่างแดน
ดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ คณบดีและผู้ร่างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร ภายใต้การกำกับคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวถึงหลักสูตรใหม่สาขาวิชาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร ว่าขณะนี้ได้รับการอนุมัติจากสภาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพร้อมเปิดสอนในภาคเรียนที่ 2/2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเชฟอาหารไทย ที่มีความรู้และปฏิบัติงานมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากที่ผ่านมาเชฟอาหารไทยยังขาดความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดรูปแบบอาหารระดับสากล การปรับสูตรอาหาร ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อาหาร การทำธุรกิจร้านอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งจำเป็นและกำหนดเป็นกฎหมาย
“เชฟที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ บางคนไม่ต้องการเป็นแค่เชฟ แต่ต้องการที่จะมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง ความรู้ที่เขาต้องมีจึงไม่ใช่แค่การทำอาหาร แต่เรื่องการบริหารคน บริหารร้าน หรือความปลอดภัยของร้านอาหารในระดับมาตรฐานสากลที่เหมือนบ้าง ต่างบ้างจากมาตรฐานของไทย ร้านอาหารไทยหลายแห่งในต่างประเทศถูกสั่งปิด เพราะไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ความสะอาด ทำให้เสียชื่อเสียง ฐานลูกค้าที่สำคัญเสียชื่อประเทศชาติ”
ดร.ยิ่งศักดิ์ กล่าวและว่า คนทั่วไปจะมองว่าเป็นการเรียนคหกรรม แต่หลักสูตรนี้จะเจาะลึกสอนให้ทำครัวเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Cookery) ซึ่งผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้เขาจะทำอาหารไทยแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยท้องถิ่น อาหารชาววัง อาหารจานด่วน ได้แบบเทคนิคและมาตรฐานแบบสากล แต่ยังคงเป็นต้นตำรับหรือ Authentic ด้วยการจัดคู่อาหาร รสชาติ การนำเสนอ การตกแต่ง การแกะสลักแบบชาววังดังเดิม
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรกำลังเปิดรับผู้จบชั้น ม.6หรือ ปวช.ในสาขาต่างๆ และผู้ที่ย้ายมหาวิทยาลัย หรือจบ ปวส.แล้วก็สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ สำหรับผู้เรียนดีหรือมีความสามารถพิเศษทางวิทยาลัย จะมีทุนการศึกษาให้อีกด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ