พฤติกรรมการอ่านหนังสือน้อย หากนำมาถกเถียงกันครั้งใด ก็โทษว่าเป็นความผิดของกระแสดิจิทัลไปเต็มๆ แต่ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับมาสำรวจต้นตอจะพบว่า ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการอ่านเริ่มต้นของเด็กเพื่อทำให้เขามีจิตวิญญาณนักอ่านไปชั่วชีวิตจะดีกว่าไหม
มีข่าวดีในวงการการศึกษาปฐมวัยว่ากำลังริเริ่มนำปฏิบัติการนวัตกรรมการอ่าน “หนังสือฝึกอ่านตามระดับ – Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน” เพื่อเด็กช่วงวัย 3 – 7 ปี ประมวลความรู้จากหนังสือชุด Oxford Reading Tree เครื่องมือสำหรับพัฒนาทักษะภาษาของเด็กอังกฤษ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาใช้ปลดล็อกวิกฤติพัฒนาการด้านภาษาของเด็กไทย ซึ่งหลายเสียงยืนยันความสำเร็จ
ทั้งนี้ ได้จัดทำโครงการ “พัฒนาหนังสือและการอ่านเพื่อสร้างรากฐานการเรียนรู้ของเด็กไทย” เพื่อศึกษาการผลิตหนังสือฝึกอ่านตามระดับความสามารถหรือ Leveled Book จากงานวิจัยระดับนานาชาติ โดยประมวลและถอดความรู้จากหนังสือชุด Oxford Reading Tree สำหรับพัฒนาทักษะภาษาของเด็กอังกฤษและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่าเป็นชุดหนังสือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อพัฒนาการอ่าน โดยนำมาออกแบบและสร้างสรรค์ พัฒนาเป็นต้นฉบับหนังสือภาษาไทย Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ก.สาธารณสุข กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาสมองเด็กด้วยหนังสือที่มีคำประกอบภาพ จะช่วยพัฒนาการด้านภาษา ควบคู่กับสติปัญญา พร้อมปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็กได้ เปรียบเหมือนตัวปลดล็อกที่ทรงพลังมหาศาล เพราะหนังสือประเภท Leveled Book หรือหนังสือฝึกอ่านตามระดับความสามารถแบบนี้ เด็กๆ สนุก อยากอ่านซ้ำๆ เป็นบันไดการอ่าน
สุดใจ พรหมเกิด ผอ.โครงการฯ และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) กล่าวว่า หลังพัฒนา “หนังสือฝึกอ่านตามระดับ – Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน” กว่า 2 ปี ได้นำไปทดลองใช้ในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบว่าครูมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน และพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กมากขึ้น เด็กๆ มีความสุขจากการอ่านหนังสือได้ด้วยตัวเองมากขึ้น
ทั้งนี้ ลัยลา สะอิมิ ครูโรงเรียนเทศบาลเทพราชบุรีรมย์ เผยว่า ได้เห็นความพยายามของเด็กที่จะเข้าถึงหนังสือ มีความสุขกับหนังสืออย่างเห็นได้ชัด
เช่นเดียวกับ ธัญวาเรส จำปานิล ครูรร.พระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล เด็กตื่นเต้นทุกครั้งที่มีโอกาสเลือกหนังสือที่เขาอยากฟังด้วยตัวเอง ทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมกับหนังสือมากขึ้น
ขณะที่ ไพลิน นวลนก ครูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนพิทักษา กล่าวว่าทำให้เด็กเริ่มรักที่จะเรียนรู้ อยากอ่านเล่มต่อไป และพัฒนาไปสู่การรักการอ่านโดยอัตโนมัติ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ