ฤดูกาลแอดมิดชันปี 62 เพิ่งผ่านพ้นไป #dek62 หลายคนมีที่เรียนตามความตั้งใจแล้ว ถึงคิวของน้องๆ #dek63 และรุ่นต่อๆ ไป ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สนามสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามมา หลายคนมีเป้าหมายคณะ มหาวิทยาลัยที่ตั้งใจจะสอบเข้าแล้ว แต่หลายคนยังคงไม่แน่ใจในเป้าหมายการเรียนต่อของตัวเอง
บทความนี้จะพาไปสำรวจเป้าหมายคณะของน้องๆ ที่เรียนจบสายศิลป์จีน ว่าจากที่ได้เรียนสายศิลป์จีนมาตลอด 3 ปี ในช่วง ม.ปลาย พวกเขามีมุมมองกับการต่อยอดการเรียนภาษาจีน ไปสู่การเรียนในคณะรูปแบบใด และคิดว่าการเรียนภาษาจีนจะได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตอย่างไรบ้าง
เรียนแค่ภาษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้ให้รอบด้าน
เริ่มต้นกันที่เฟรชชี่ ธนสร ขาวชัยฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า เริ่มหลงรักในภาษาจีน จากที่ได้เรียนในสายศิลป์ภาษาจีนตลอด 3 ปีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อีกทั้งได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศจีน10 เดือน ได้รับประสบการณ์ดีๆ ที่ประเทศจีน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ประเทศมีความทันสมัย ผู้คนเป็นมิตร สถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย และยังมีโฮสต์ที่ใจดี คอยดูแลช่วยเหลืออยู่เสมอ
หลังจากที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศจีน ก็พบว่าจีนยังมีเสน่ห์ที่รอให้เรียนรู้อีกมากมาย ทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น และความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ตั้งเป้าหมายว่า การที่จะรู้จักจีนอย่างแตกฉานได้ ต้องเรียนรู้มากกว่าแค่ด้านภาษาเพียงอย่างเดียว
ด้าน มุนินทร์ ดาสิงห์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การรู้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในปัจจุบันอีกต่อไป แต่การที่มีความรู้ทั้งด้านภาษา และรู้จักประเทศนั้นอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน จะเป็นสิ่งที่เพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง มากกว่าคนที่รู้แค่ด้านภาษาเพียงอย่างเดียว
สำหรับประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่กว่า 5,000 ปี อีกทั้งมีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่น่าค้นหา ในขณะเดียวกัน การพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ถือว่าพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จนได้ชื่อว่ากำลังจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ตนจึงมองว่าการเรียนรู้จีน ไม่ควรหยุดอยู่แค่ด้านภาษา หรือการทำความรู้จักจีนผ่านเรื่องราวในอดีต แต่ต้องเรียนรู้พัฒนาการของจีนไปพร้อมกัน ซึ่งหลักสูตรจีนศึกษา PBIC Thammasat มีวิชาที่ครอบคลุมการเรียนรู้จีนอย่างรอบด้าน อาทิ วิชาสังคมและวัฒนธรรมจีน วิชาเศรษฐกิจและธุรกิจจีน วิชาการตลาดของจีน และวิชาการเจรจาธุรกิจจีน เป็นต้น
ปิดท้ายที่ ธนโชค ชีวาสุขถาวร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีโอกาสในช่วงปี 3 เทอม 2 ไปศึกษาที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 เทอม โดยมีโอกาสเลือกเรียนมหาวิทยาลัยคู่สัญญา ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยฟูตั้น มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ และมหาวิทยาลัยชานตง ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยล้วนเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีนทั้งสิ้น โดยตนได้เลือกไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากเคยมีโอกาสไปเที่ยว และไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลาสั้นๆ
เซี่ยงไฮ้ได้ชื่อว่าเป็น “ไข่มุกแห่งเอเชีย” หรือเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้าที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย หลังจากที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองหนึ่งที่กำลังเติบโตอย่างรอบด้าน ทั้งธุรกิจ บริการ การค้า การลงทุน ทำให้ตั้งเป้าหมายที่จะทำงานในภาคบริการของบริษัทจีน เนื่องจากธุรกิจภาคบริการของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ตนเชื่อว่าจะสามารถนำความสามารถการสื่อสารภาษาจีน การรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง จากการเรียนในหลักสูตรจีนศึกษาเป็นเวลา 4 ปี มาต่อยอดในการทำงานร่วมกับบริษัทจีนได้ในอนาคต
สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรของ PBIC Thammasat ทั้งหลักสูตรจีนศึกษา อินเดียศึกษา และไทยศึกษา ในรูปแบบการเรียนการสอนแบบนานาชาติ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือfacebook.com/PBIC.TU
#
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ