เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2562 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ แจ้งวัฒนะ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา มีตัวแทนจาก 20 จังหวัดต้นแบบเข้าร่วมกว่า 100 คน
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.พร้อมด้วย 20 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา ร่วมมือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยให้แต่ละจังหวัดเป็นเจ้าภาพ ใช้บริบทของแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง มุ่งไปที่ 2 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ เด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยทุกๆ ปี มีเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-6 ปีไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ราว 250,000 คน หรือร้อยละ 10 เฉลี่ยประมาณจังหวัดละ 3,200 คน ขณะที่เด็กนอกระบบการศึกษาอายุ 3-17 ปี มีจำนวน 592,396 คน สำหรับการทำงานเน้น 3 ด้านสำคัญ คือ 1.สร้างกลไกบูรณาการระหว่างหน่วยงานหลักและภาคประชาสังคมในพื้นที่ 2.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการสำรวจค้นหากลุ่มเป้าหมายจริง ทำให้การช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำ และ 3.การสร้างตัวแบบการช่วยเหลือเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาตามบริบทของพื้นที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบ
ผู้ช่วยผู้จัดการกสศ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรารู้เพียงจำนวนของเด็กกลุ่มนี้ จากการนำฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยหักลบกับฐานข้อมูลนักเรียนในทุกสังกัด แต่เรายังไม่ทราบว่าเด็กอยู่ที่ไหน รูรั่วของระบบข้อมูลอีกจุดอยู่ในช่วงที่เด็กอายุ 24 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะไม่อยู่ในฐานข้อมูลเด็กของกระทรวงสาธารณสุข และก่อนที่จะปรากฎข้อมูลเด็กอีกครั้งเมื่อเข้าศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น จากนี้ทั้ง 20 จังหวัดที่ร่วมโครงการจะพัฒนาให้เกิดเจ้าภาพร่วม ค้นหา ติดตามเด็กอายุตั้งแต่ 2-21 ปี ที่หลุดจากระบบการศึกษา โครงการยังให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเพื่อให้ทราบว่าขณะนี้เด็กแต่ละคนที่ถูกค้นพบ ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ เป็นเครื่องมือให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งกสศ.จะสนับสนุนงบประมาณ อย่างต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละจังหวัด สามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายในปีแรกคือสามารถช่วยเหลือเด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบการศึกษาจำนวน 35,000 คน
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากข้อมูลของจังหวัดนครนายก พบว่า เด็กร้อยละ 30 เป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หมายความว่า เด็ก 24,000 คน มีจำนวน 8,800 คน ที่มีปัญหา เช่น พ่อแม่เสียชีวิต ครอบครัวหย่าร้าง มีฐานะยากจน หรือถูกคุกคามทางเพศ เรายังพบปัญหาเด็กเข้าสู่วงจรยาเสพติด เด็กเดินยาจาก 9 ขวบ เหลือเพียง 6 ขวบ และคุณแม่วัยใสที่อายุน้อยสุดคือ 13 ปี ดังนั้นโครงการนี้ถือเป็นการทำงานเชิงรุกของจังหวัด ต้องปรับโครงสร้างให้เกิดกลไกร่วมมือในการขจัดปัญหา และพัฒนาศูนย์ข้อมูลชุดเดียวที่ทุกหน่วยงานจะมาใช้ร่วมกันเพื่อเข้าถึง ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ได้ทันท่วงทีและตรงความต้องการ การพัฒนาจังหวัดให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องมีรากฐานการพัฒนาคนที่เข้มแข็ง เราจึงไม่ควรทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ถือว่าโครงการนี้ทำให้ทั้งจังหวัดเอาหัวใจมากองรวมกัน เพราะถ้าเราเอาใจมากองรวมกันได้ก็เชื่อว่างานจะสำเร็จได้
ด้านนายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดและอดีตปลัด อบจ.สุรินทร์ กล่าวว่า ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องอัพเดทและเป็นเรียลไทม์ เรามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาทุกวัน แม้สถานศึกษาจะจำหน่ายชื่อเด็กออกได้เมื่ออายุ 15 ปี แต่เด็กหลุดออกมาก่อนแล้วในความเป็นจริง เด็กออกจากโรงเรียนมากที่สุดในช่วง ม.2 จากประสบการณ์พบว่า กลไกในพื้นที่จะเข้าถึงและติดตาม ค้นหาเด็กได้ดีที่สุด โดยเฉพาะความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยเก็บข้อมูลและประสานกับ กศน. ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อส่งเด็กกลับเข้ารับการศึกษา พัฒนาอาชีพตอบความต้องการของเด็กให้มากที่สุดต่อไป เมื่อสามารถค้นพบเด็กและเข้าช่วยเหลือตั้งแต่ระดับตำบลปัญหาภาพรวมในระดับจังหวัดจึงยิ่งลดลง พร้อมขยายภาคีความร่วมกับกับเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐทุกระดับ จะทำให้เกิดกลไกการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ