คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
มันเทศ (sweet potatoes) เป็นพืชหัวที่ปลูกกันมานานในประเทศไทยทั่วทุกภาค เป็นพืชที่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดี และปลูกได้ตลอดปี ใช้น้ำมากในระยะแรกเท่านั้น แต่เมื่อตั้งตัวได้ ความต้องการน้ำจะลดลง เจริญเติบโตดี ทนทานต่อความแห้งแล้ง มีอายุเก็บเกี่ยว 3 เดือน ให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ 800–3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นกับสภาพท้องที่ที่ปลูก
อ.สนทยา มูลศรีแก้ว หัวหน้าสาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ได้มีการสำรวจพื้นที่ ต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าสามารถปลูกมันเทศได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากมีคลองทับน้ำไหลผ่าน ซึ่งคลองนี้เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยมีพื้นที่ปลูกมันเทศประมาณ 900 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,710,000 กิโลกรัม ซึ่งในปริมาณนี้มีผลผลิตที่เสียหายคัดทิ้งจากการโดนแมลงกัดทำลาย หัวเล็กไม่ได้ขนาด และมันเป็นเสี้ยน รวมกันประมาณร้อยละ 4 หรือ 108,400 กิโลกรัม
ทั้งนี้ การปลูกมันเทศยังมีผลพลอยได้คือ เถามันเทศ ที่สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ โดย 1 ไร่ จะได้เถามันเทศประมาณ 2,000 กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตที่เสียหายเหล่านี้ เป็นผลพลอยได้ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้อย่างดี
จากผลการศึกษาคุณค่าทางโภชนะของเถามันเทศ พบว่ามีโปรตีนและแป้งสูงร้อยละ 12.50 และร้อยละ 10.68 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีไขมันต่ำ (ร้อยละ 0.17) ซึ่งเหมาะนำมาทำวัตถุดิบอาหารหยาบสดในการเลี้ยงสัตว์กระเพาะรวม คือ โค กระบือ แพะ แกะ ได้ดี
จากการนำมาทดสอบใช้เลี้ยงโคเนื้อและโคนมโดยให้กิน เถามันเทศสดอย่างเต็มที่ทดแทนหญ้าสดเป็นเวลา 20 วัน พบว่าโคสามารถกินเถามันเทศได้เฉลี่ยร้อยละ 9.34 ของน้ำหนักตัว ซึ่งต่ำกว่าโคในกลุ่มที่กินหญ้าขนสดอย่างเดียวเล็กน้อย (ร้อยละ 9.38 ของน้ำหนักตัว) นอกจากนี้ ยังมีรายงานการใช้เถามันเทศเพื่อเป็นอาหารสุกรขุน ในระยะหลังหย่านมจนถึง 100 กิโลกรัม โดยหั่นเถามันเทศสดให้ละเอียดใช้ทดแทนอาหารข้น
พบว่าสุกรมีประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารด้อยลง เจริญเติบโตช้า แต่มีคุณภาพซาก เมื่อฆ่าชำแหละแล้ว ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารข้นล้วน โดยการใช้มันเทศในสูตรอาหารข้นทำให้มีต้นทุนค่าอาหารต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่ำกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารข้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งควรเลือกใช้เถามันเทศทดแทนวัตถุดิบอาหารข้นที่มีระดับโปรตีนใกล้เคียงกัน เช่น ปลายข้าว และรำละเอียด เป็นต้น
นอกจากนี้ หัวมันเทศคัดทิ้ง พบว่ามีแป้งและน้ำตาลสูงร้อยละ 31.33 สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อทดแทนมันเส้นในสูตรอาหารสุกร โค กระบือ แพะ แกะ ได้ และยังพบว่ามีเบต้าแคโรทีนสูง 1,250 (±0.58) mg/ 100 g สามารถใช้ทดแทนมันเส้นในสูตรอาหารไก่ไข่ได้ร้อยละ 100 โดยไม่ทำให้คุณภาพของไข่เปลี่ยนแปลง และยังทำให้ไข่ไก่มีสีเหลืองสดน่ารับประทาน เนื่องจากเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้นตอที่ทำให้ไข่มีสีเหลืองสด
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อ.สนทยา มูลศรีแก้ว หน.สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 087-413-2711
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ