ทหารประชาธิปไตย
เมื่อมีการประชุม World Economic Forum ในปีที่แล้ว และมีรายงานออกมาว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างและรูปแบบการศึกษาใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และการสร้างอาชีพของตนเองสำหรับบุคลากรในอนาคต
สิงคโปร์ก็เริ่มคิดเปลี่ยนการศึกษาทั้งหมด ด้วยแผนที่เรียกว่า Learn For Life โดยจากนี้ไปอีก 5 ปี สิงคโปร์จะเริ่มขบวนการยกเลิกการแยกสายของนักเรียนชั้นมัธยมที่เคยแยกเป็น Normal/Technical Normal/Academic และสาย Express เทียบกับของเราก็คือ สายศิลปะ สายวิทย์ สายอาชีว แต่ก็ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การแบ่งสายวัดจากคะแนนสอบจากชั้นประถมและมัธยมต้น เพราะเห็นว่าการสอบเพียงไม่กี่ครั้ง ไม่อาจวัดความสามารถและทักษะของเด็กๆได้ และยังเป็นการไปจำกัดอนาคตของเด็กๆในปัจจุบันและอนาคต ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา และไม่มีโอกาสที่สองในการเปลี่ยนแนวการศึกษาของตนเอง และทำให้ไม่อาจปรับตัวในการให้การศึกษาได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน
ถึงแม้สิงคโปร์จะอยู่ในอันดับต้นๆของโลกในด้านการศึกษามาโดยตลอด แต่ก็ยังมีความตื่นตัวอย่างมากในการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดแรงงาน ซึ่งหากไม่ปรับตัวก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก ตั้งแต่การว่างงาน การสูญเปล่าของการให้การศึกษา และเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญ
แผนนี้เริ่มด้วยการยุบโรงเรียน ส่วนหนึ่งมารวมกัน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างใหม่ โดยในปี 2020 จะมีโรงเรียน 25 โรงเรียนเป็นต้นแบบในการทดลอง ซึ่งจะให้เด็กสามารถเลือกเรียนวิชาต่างๆมากขึ้น นอกจากวิชาพื้นฐานขั้นต้น
การตื่นตัวของสิงคโปร์นี้เป็นการตอบสนองต่อรายงานจากการประชุม World Economic Forum ทั้งนี้รายงานดังกล่าวได้กล่าวถึงความวิกตกกังวลที่ต้องปฏิวัติการศึกษาเพื่อจะได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
จากการศึกษาพบว่านักศึกษากว่า 60% ที่เรียนเต็มเวลาไม่สามารถเรียนจนจบได้ เพราะมีปัญหาทางการเงิน นอกจากนี้คุณสมบัติบัณฑิตจบใหม่ยังไม่สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวตกรรม
ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องถามตนเองก่อนว่ามันคุ้มค่าไหมที่จะเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา และมันจะช่วยเป็นหลักประกันหรือไม่ที่เราจะไม่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติสมองกลอัจฉริยะ ซึ่งคำตอบไม่ง่ายนัก เพราะตลาดแรงงานในอนาคตนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก เพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างก้าวกระโดด
จากรายงานของ Burning Glass and the Strada Institute พบว่า 43% ของผู้จบระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา ถูกจ้างงานแบบไม่เต็มเวลา (underemployment) หรือถูกจ้างงานต่ำกว่าระดับความรู้ที่เรียนมาในการทำงานครั้งแรก และ 2 ใน 3 ของจำนวนนี้ก็ยังคงสภาพเดิมใน 5 ปีต่อมา ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งยังคงเป็นแบบเดิมใน 10 ปีต่อมา เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดปัญหากับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งมีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผู้กู้ยืมไม่มีรายได้พอเพียงที่จะชดใช้หนี้
นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าว มีรายงานเกี่ยวกับตำแหน่งงานในอนาคตว่าจะมีตำแหน่งถึง 75 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัยในปี 2022 และในช่วงเวลาเดียวกันนี้จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้น 133 ล้านตำแหน่ง แต่ไม่สามารถรองรับคนที่ตกงานได้ เพราะมีทักษะไม่พอเพียงที่จะทำงานในตำแหน่งใหม่เหล่านั้น เรียกว่าช่องว่างของทักษะ ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว กล่าวคือ มีตำแหน่งใหม่เปิดรับแต่ก็ยังหาคนบรรจุไม่ได้ครบ ในขณะที่มีคนว่างงานอีกจำนวนมาก และปัญหานี้จะไม่หมดไปจนกว่าสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวะจะหาวิถีทางในการสร้างนวตกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนตนเอง
ได้มีความพยายามที่จะปรับตัวเองด้านนวตกรรมใหม่ๆของสถาบัน บางสถาบันแต่ยังคงมีขนาดเล็ก ซึ่งต้องพิจารณาในประเด็นต่างๆ 5 ประเด็นด้วยกันคือ
1.เน้นการศึกษาแบบเข้มข้น แทนการศึกษาปริญญาตรี 4 ปี หลายสาขาวิชาควรจะเน้นการเรียนเท่าที่จำเป็น โดยอาจย่อมาเหลือ 2 ปี ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายลง ยกเว้นบางสาขาวิชาที่ต้องการความรู้และประสบการณ์เพื่อความเชี่ยวชาญอย่างแพทย์ หรือโรงเรียนกฎหมายสำหรับผู้จบปริญญาตรีมาแล้วควรย่อมาเรียนและฝึกหัดเพียง 2 ปี แทน 3 ปี
ในฝรั่งเศสมีโปรแกรมเรียนฟรีแบบเร่งรัด ด้วยระบบดิจิตัล และไม่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานเบื้องต้นมาก่อน โดยโครงการนี้เน้นการฝึกหัดปฏิบัติการเพื่อผลิตคนรุ่นใหม่โดยตั้งเป้าหมายปีละ 10,000 เป็นเบื้องต้น
2.จากรายงานของ The Atlantic ค่าเฉลี่ยของปีการศึกษาสำหรับอาชีพต่างๆ 500 อาชีพ เพิ่มขึ้น 1.2 ปี ตั้งแต่กลางปี 1970 กลางปี 1990 แต่หลังจากนั้นในช่วงเวลาเดียวกันความต้องการนี้หยุดนิ่ง ซึ่งแสดวงว่าคนทำงานถูกทำให้ศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อให้ทำงานแบบเดิม จึงนับเป็นการสูญเปล่า
อนึ่งถ้าเราลดการให้ความสำคัญกับใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรลง โดยมุ่งที่ความสามารถในการทำงานเป็นหลัก บุคคลเหล่านี้อาจเพิ่มทักษะของตนเอง ด้วยการเรียน On Line หรือการเรียนรู้ด้วยตนเอง การฝึกฝนหรือการเป็นผู้ประกอบการเสียเองได้ โดยไม่ต้องมีปริญญาหรือประกาศนียบัตร
มีตัวอย่างสถาบัน 42 แห่งทั้งในซานฟานซิสโก และปารีส ที่ให้การศึกษาในระดับสูงด้วยการฝึกฝนตนเองและไม่มีเครดิต เช่น ในโรงเรียนวิศวกรรมแห่งหนึ่งไม่มีทั้งอาจารย์และห้องเรียน นักศึกษาเรียน On Line และมีผลงานเป็น Project ที่ตนคิดค้นขึ้นมาไปแสดงต่อผู้จ้างงาน
3.วิธีการปรับแรงจูงใจของนักศึกษา และสถาบันการศึกษา ซึ่งมีวิธีการหนึ่งที่อาจนำมาใช้ได้ คือ การทำสัญญาแบ่งรายได้ โดยนักศึกษาไม่ต้องจ่ายเงินค่าเรียน แต่เมื่อจะออกไปต้องแบ่งรายได้ตามอัตราที่ตกลงกับสถาบันการศึกษา วิธีนี้ทำให้สถาบันการศึกษาต้องมุ่งเน้นที่จะให้ความรู้ ให้นักศึกษาออกไปทำงานได้ และนักศึกษาเองก็ต้องขวนขวายหาความรู้เพื่อให้ออกไปทำงานได้ มีตัวอย่างทำนองนี้ที่รวันดา ชื่อ สถาบัน Akilah ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบัน Chancen จากเยอรมัน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะผู้จบการศึกษาเกือบทุกคนมีงานทำ มีรายได้ดี และแบ่งรายได้คืนให้สถาบันการศึกษาเป็นค่าเรียนโดยไม่ติดขัด
4.การสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างสถาบันการศึกษากับอุตสาหกรรม ทั้งนี้การร่วมมือกันทำให้ได้ประโยชน์ทั้งคู่ กล่าวคือ นักศึกษามีโอกาสได้ฝึกงานของจริง และได้รับการบ่มเพาะจากผู้มีประสบการณ์จริง สถาบันการศึกษาก็มีโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรม และตลาดแรงงาน ที่สำคัญอุตสาหกรรมที่เข้ามาสนับสนุนมีโอกาสได้เลือกช้างเผือกก่อนคนอื่น ตัวอย่างเช่น บริษัท Hyland ที่เป็นบริษัท Soft Ware ใน โอไฮโอ ได้ร่วมมือกับ สถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นต้น โดยบริษัทเข้ามาร่วมวางหลักสูตรมาร่วมสอน และเชิญผู้บรรยายพิเศษตลอดจนเกจิอาจารย์มาร่วมให้การอบรมบ่มเพาะนักศึกษา ตั้งแต่เริ่มจากมัธยมต้น มัธยมปลาย และระดับสถาบัน
5.การเรียนรู้งานจากการทำโครงการ เพราะการศึกษาสมัยใหม่ต้องการเสริมสร้างความคิดริเริ่ม ความคิดที่ตรงต่อประเด็น ความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน ความสามารถในการเขียนรายงาน การต่อรอง การสร้างและนำเสนอข้อโต้แย้งที่มีเหตุผล ถามคำถามที่เข้าท่า และพยายามหาคำตอบสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่ไม่อาจสอนในห้องเรียน แต่ต้องลงมือปฏิบัติ และฝึกฝนด้วยตนเอง แล้วไปเพิ่มเต้มด้วยวิชาการหรือองค์ประกอบทางเทคนิคอื่นๆ การให้นักเรียน นักศึกษาร่วมกันทำโครงการจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างทักษะ ในการออกไปทำงานได้จริงๆ ตัวอย่างที่ซานฟรานซิสโก Make School เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ให้การศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ประยุกต์ ใช้เวลาเพียง 2 ปี โดยนักศึกษาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนักพัฒนารุ่นเยาว์ในบริษัทใหญ่ๆ มีการผสมผสานระหว่าง liberal arts กับ Computer science และการพัฒนาบุคลิกภาพ
สำหรับประเทศไทยคงเป็นแค่ความฝัน ไม่ใช่เพราะไม่มีคนมีความรู้ความสามารถ แต่เพราะมัวแต่ตีกันเอง จึงวังเวงอย่างนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ