STC โพลล์เผยกว่าครึ่งบอกยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใคร 30% บอกจะเลือกกาตามพ่อแม่ 70% เชื่อจะมีการทุจริตใช้กลโกงเลือกตั้งมากกว่าครั้งก่อน
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลสำรวจ “พฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของเยาวชนที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 นี้” สำรวจระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ.62 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,057 คน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-26 ปี ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส.ส.เป็นครั้งแรก แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.71 เพศชายร้อยละ 49.29 สามารถสรุปผลได้ดังนี้
ในด้านความสนใจและความรู้สึกต่อการเลือกตั้งนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.78 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งสม.ส.วันที่ 24 มี.ค.62 นี้บ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.19 ระบุให้ความสนใจติดตามโดยตลอด โดยที่กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.03 ยอมรับว่าตนเองไม่ให้ความสนใจติดตามเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.02 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.เป็นครั้งแรก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.98 ระบุไม่รู้สึกตื่นเต้น
ในด้านความตั้งใจ การตัดสินใจ และความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส. 24 มี.ค.62 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.24 ระบุตนเองตั้งใจจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.7 ยอมรับว่าตนเองตั้งใจจะไม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.06 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.74 ยอมรับว่าตนเองยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งนี้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.26 ระบุว่าตนเองตัดสินใจแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2ใน 3หรือคิดเป็นร้อยละ 70.29 ยอมรับว่าตนเองไม่เข้าใจระบบการคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนส.ส.แต่ละพรรคการเมืองในการเลือกตั้งส.ส. ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 29.71 ระบุว่าตนเองเข้าใจ
สำหรับเหตุผลในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 29.42 ระบุว่าเหตุผลสำคัญที่สุดที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.คือเลือกตามสมาชิกในครอบครัว รองลงมาระบุว่าเลือกตามเพื่อนฝูง/คนรู้จักคิดเป็นร้อยละ 20.15
ขณะกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.45 ระบุว่าเลือกจากคุณสมบัติ/พฤติกรรมของตัวผู้สมัคร ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.35 ร้อยละ 10.03 และร้อยละ 7.38 ระบุว่าเลือกจากนโยบายพรรค ผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกฯและคุณสมบัติ/พฤติกรรมของผู้บริหาร/สมาชิกพรรคตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.22 ระบุว่าสาเหตุอื่นๆ
ด้านความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.52 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าจะมีการทุจริต/คดโกงด้วยวิธีการต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มากกว่าการเลือกตั้งส.ส.ในครั้งที่ผ่านๆ มา ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.82 ยอมรับว่ารู้สึกกังวลว่าหลังเลือกตั้งส.ส.วันที่ 24 มี.ค.62 นี้ ประเทศจะกลับไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองอีกครั้ง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ