ทีมนักศึกษามหิดลสุดเจ๋ง คิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วย “ตู้รับซื้อขยะ” และ “เเอปพลิเคชั่นเพื่อรับเเต้มจากตู้รับขยะ” เน้นเสริมพฤติกรรมเชิงบวกและสร้างแรงจูงใจ คว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประชุมวิชาการ Asian Conference on Campus Sustainability (ACCS) ครั้งที่ 4ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเร็วๆ นี้
ทีมนักศึกษาตัวแทนมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไปคว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายธนกิตติ์ สาชาติ นายสรายุทธ หล้าวิไลย์ และ นายบัณฑิต โหว นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร.ปวิตรา จิรวีรกูล นายสมศักดิ์ ธนาศรี และนายภูวเดช อินทร์ตะโคตร เป็นที่ปรึกษา
โดยทีมนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ได้เล็งเห็นปัญหาด้านขยะในสังคมไทยเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยมองว่า จริงๆ แล้วปัญหาการจัดการขยะส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายๆ เพียงแค่นำขยะมารีไซเคิล
จากการศึกษาของพวกเขา พบว่าขยะในปัจจุบันนี้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่กลับมีขยะเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ได้ถูกนำมารีไซเคิล นอกจากนี้ ยังค้นพบอีกว่า สาเหตุที่คนทั่วไปไม่ใส่ใจปัญหาขยะ หรือไม่เห็นความสำคัญของการรีไซเคิล ก็เพราะพวกเขามองไม่เห็นผลหรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหรือเป็นรูปธรรม
ดังนั้น นวัตกรรมที่นักศึกษามหิดลกลุ่มนี้คิดขึ้น คือ ทำให้ผู้คนเกิดแรงจูงใจในการแยกขยะ และเสริมสร้างพฤติกรรมในการคัดแยกขยะอย่างยั่งยืน ด้วย “ตู้รับซื้อขยะ” (MU Smart Bin) กับ “เเอปพลิเคชั่น สำหรับรับเเต้มจากตู้รับขยะ” (MU Recycle Application)
ด้วยวิธีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชั่น สแกน QR codeที่ตู้รับซื้อขยะ แล้วแยกทิ้งขยะตามประเภทให้ถูกต้อง จากนั้นตู้รับซื้อขยะจะส่งข้อมูลขยะดังกล่าวกลับไปยังแอปพลิเคชั่น ทางแอปพลิเคชั่นจะคำนวณแต้มคะแนนสะสมให้ ซึ่งผู้ใช้สามารถนำไปใช้จ่ายแทนเงินสดหรือเป็นส่วนลดกับร้านค้าต่างๆ ได้ จึงทำให้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจากนักศึกษาทีมนี้ชนะใจกรรมการ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที Asian Conference on Campus Sustainability(ACCS) ครั้งที่ 4 มาครองได้สำเร็จ
สำหรับงานประชุมวิชาการ Asian Conference on Campus Sustainability(ACCS) เป็นงานประชุมของมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียที่มีแนวคิดส่งเสริมด้านความยั่งยืน การประชุมครั้งล่าสุด ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 นับเป็นการประชุมครั้งที่ 4 โดยมีตัวแทนจากประเทศในเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 60 คน จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย การประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 จะจัดขึ้นที่ Tongji University มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ