มหาวิทยาลัยมหิดล โชว์ผลวิจัยและทดสอบตำรับสมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ พบช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่ได้สูงเกือบ 5 เท่า โดยไม่มีผลข้างเคียง และถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงครั้งแรกของไทย ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก ณ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
วันนี้ (17 ม.ค.62) ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย สมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ ภายใต้สิทธิบัตรแบรนด์ “ฟีนูแคปพลัส” เปิดเผยว่าใช้เวลาศึกษาวิจัยเรื่องนี้มากกว่า 1 ปี และนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ายินดี สำหรับวงการสมุนไพรไทย ที่ช่วยให้คุณแม่หลังคลอด มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพของตำรับสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ลูกซัด ขิง และขมิ้น ภายใต้สิทธิบัตรแบรนด์ “ฟีนูแคปพลัส” จากบริษัท สมุนไพรบ้านอาจารย์ จำกัด
ทั้งนี้ ได้ทำการทดสอบในกลุ่มแม่ให้นมบุตร รูปแบบเป็นการวิจัยแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุมและปกปิดทั้งสองทาง ซึ่งถือเป็นการวิจัยที่ดี และศึกษาในกลุ่มมารดาที่ให้นมบุตรมาแล้ว 1 เดือน น้ำนมจึงค่อนข้างคงที่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับสมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ ส่วนอีกกลุ่มได้รับยาหลอก ทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งทางทีมวิจัย ได้มีการตรวจประเมินร่างกาย วิเคราะห์เลือดทางชีวเคมี และมีการเก็บตัวอย่างน้ำนมทั้งก่อนและหลังการรับประทาน ตลอดจนมีการบันทึกอาหารที่แม่ทานในแต่ละวัน เพื่อศึกษาปัจจัยด้านอาหารร่วมด้วย โดยพบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำนมมารดาก่อนการทดลอง ในกลุ่มที่ได้รับสมุนไพร อยู่ที่ 710 มล. /วัน และในกลุ่มยาหลอกอยู่ที่ 736 มล./วัน ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่หลังจากการทดลองในสัปดาห์ที่ 2 พบว่า ปริมาณน้ำนมในกลุ่มมารดาที่ทานสมุนไพรฯ เพิ่มขึ้น 49% และเพิ่มสูงขึ้นถึง 103 % ในสัปดาห์ที่ 4 อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ สูงขึ้นเกือบ 5 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ที่เพิ่มขึ้นเพียง 11% และ 24% ในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ตามลำดับ
สำหรับวิธีรับประทานสมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ ทีมวิจัยแนะนำว่า สามารถทานได้ทันทีหลังคลอดลูก ก่อนอาหาร 3 มื้อ มื้อละ 3 แคปซูน แต่ไม่ควรทานระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจาก ส่วนผสมของลูกซัดมีผลต่อการบีบตัวของมดลูก อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
นอกจากนี้ ยังพบเปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลงของวิตามินเอในน้ำนมแม่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีปริมาณวิตามินเอลดลง รวมถึง การทำงานของตับและไตทั้งก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน และไม่พบรายงานใดๆ ถึงผลข้างเคียงในทารก รวมทั้งผลงานวิจัยตำรับสมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้มีการตีพิมพ์ในวรสาร การแพทย์ระดับโลก “Breastfeeding Medicine” นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้าน ผศ.ดร.พัชราณี ภวัตกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะหญิงให้นมบุตรต้องการสารอาหารต่างๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งต้องการพลังงานในการสร้างและหลั่งน้ำนมด้วย โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนเด็กอายุ 6 เดือน การเลือกกินอาหารที่ดีถูกต้องตามหลักโภชนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ พบว่าประเทศไทยมีแม่ที่ให้นมบุตรจนเด็กอายุถึง 6 เดือน เพียงแค่ 15 เปอร์เซ็น ขณะที่สปป.ลาว 40 เปอร์เซ็น อินโดนีเซีย 42 เปอร์เซ็น โดยเหตุผลที่แม่คนไทยไม่สามารถให้นมได้ถึง 6 เดือน จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 45.5 คือแม่คิดว่า น้ำนมแม่มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี แม่ที่ให้นมบุตรที่อายุไม่ถึง 6 เดือน แต่ให้ทานนมผงแทน จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก และให้พลังงานสูง อาจทำให้เด็กเกิดภาวะโรคอ้วนได้ ส่วนแม่ที่ให้นมบุตร 6 เดือน หรือมากกว่า จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการ สุขภาพที่ดี รวมทั้งมีพัฒนาการทางสมองดี เป็นเด็กฉลาด
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ