เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.61 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญที่ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงอีกก้าวย่างสำคัญของไทยที่พร้อมจะเข้าสู่ยุคอวกาศ
วันดังกล่าวตามวันในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ภายใต้มิชชั่น SSO-A: Smallsat Express ของบริษัทสเปซไฟล์ท (Spaceflight Inc.) ได้ส่ง “ดาวเทียมแนคแซท” ผลงานของไทย พร้อมด้วยดาวเทียมอื่นๆ รวมทั้งหมด 64 ดวงจากทั้งหมด 17 ประเทศ ขึ้นสู่วงโคจรประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การส่งจรวดครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกันจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยส่งจากฐานยิงจรวดของประเทศสหรัฐฯและเป็นครั้งแรกที่บริษัทสเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จในการนำตัวผลักดัน (booster) ของจรวดมาใช้ซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งความสำเร็จในการนำตัวผลักดันมาใช้ซ้ำได้จำนวนหลายครั้ง จะส่งผลให้ต้นทุนและราคาการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศลดลง หน่วยงานต่างๆ สามารถมีดาวเทียมเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะใช้สำหรับเชิงพาณิชย์หรือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา อย่างเช่น โครงการดาวเทียมแนคแซท
ทั้งนี้ การปล่อยเพย์โหลดออกจากหัวจรวดเริ่มดำเนินการหลังจากจรวดทะยานขึ้นไปแล้ว 43 นาที 11 วินาที ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ธ.ค. เวลา 19:32น. ตามเวลาสากล (หรือวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 02:32น. ตามเวลาในประเทศไทย) เพย์โหลดประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ปล่อยดาวเทียม 2 ชุดมีชื่อว่า Upper Free Flyer (UFF) และ Lower Free Flyer (LFF) และดาวเทียมหลักของมิชชั่น SSO-A อีก 4 ดวง จากนั้น UFF และ LFF เริ่มปล่อยดาวเทียมที่เหลือทุกๆ 5 นาที ใช้เวลารวมในการปล่อยทั้งหมดมากกว่า 5 ชั่วโมง การปล่อยแต่ละครั้งมีความจำเป็นต้องเว้นระยะเวลาการปล่อย เพื่อป้องกันไม่ให้ดาวเทียมที่ปล่อยออกมาปะทะกันเอง โดยดาวเทียมแนคแซทถูกปล่อยออกจาก LFF ณ. วันที่ 3 ธ.ค. เวลา 22:49:57UTC (ตรงกับวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 05:49:57น. ตามเวลาในประเทศไทย)
สัญญาณแรกของดาวเทียมแนคแซทรับได้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.61 เวลา 09.04 น. ตามเวลาสากล (ตรงกับ 14.04 น. ในประเทศไทย) เป็นการยืนยันว่าดาวเทียมแนคแซท ได้เริ่มต้นปฏิบัติงานในอวกาศแล้ว
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นของดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT, ย่อมาจาก King Mongkut’s University of Technology North Bangkok Academic Challenge of Knowledge SATellite) เป็นดาวเทียมรูปแบบคิวแซท (CubeSat) ซึ่งออกแบบและสร้างในประเทศไทยทั้งหมด โดยทีมนักศึกษาและอาจารย์ (รวมทั้งหมดมากกว่า 20 ชีวิต) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
ดาวเทียมแนคแซท มีขนาดและน้ำหนักจากการวัดจริง เท่ากับ 10 ซม.x10 ซม.X 11.4 ซม. และ 1.052 กก.ตามลำดับ และใช้คลื่นวิทยุย่านความถี่่วิทยุสมัครเล่นในการสื่อสาร
ความสำเร็จของโครงการดาวเทียมแนคแซทจะเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญสำหรับการออกแบบและสร้างดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่และภาระกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นต่อไปในประเทศไทย ตลอดจนจะช่วยกระตุ้นความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทย ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในอนาคต รวมถึงเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกว่า คนไทยมีศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมและระบบต่างๆ ที่ใช้ในอวกาศได้เอง และประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ภารกิจหลักของดาวเทียมแนคแซทที่จะปฏิบัติในอวกาศ ประกอบด้วย การถ่ายภาพโลกจากอวกาศ และการทดสอบการทำงานของระบบต่างๆ ที่ออกแบบและจัดสร้างขึ้นในอวกาศ ในส่วนของภาระกิจการถ่ายภาพจากอวกาศนั้น ความละเอียดของการภาพถ่ายมีค่าประมาณ 1–2 กิโลเมตรต่อพิกเซล เนื่องจากถูกจำกัดด้วยด้านงบประมาณและขนาดของตัวดาวเทียมเอง
ส่วนคลื่นความถี่วิทยุที่ใช้สำหรับระบบสื่อสารของดาวเทียมแนคแซทเป็นคลื่นความถี่ย่านวิทยุสมัครเล่น ซึ่งด้รับการจัดสรรความถี่จากสมาพันธ์วิทยุสมัครเล่นนานาชาติ (The International Amateur Radio Union, IARU) โดยการสนับสนุนจากสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สัญญาณเรียกขาน (Call sign) ของดาวเทียมแนคแซทคือ HS0K และความถี่ที่ใช้สำหรับส่งข้อมูลและภาพถ่ายจากดาวเทียมมายังสถานีภาคพื้นดินคือ 435.635 MHz
ส่วนสถานีภาคพื้นดินของโครงการดาวเทียมแนคแซทตั้งอยู่ ณ อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ของสถานีคือ (13° 49’8.65 “N, 100° 30’49.30” E) และสัญญาณเรียกขาน (Call sign) คือ HS0AK นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้งานเป็นความถี่ย่านวิทยุสมัครเล่น สถานีภาคพื้นดินของนักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกสามารถที่จะรับสัญญาณจากดาวเทียมแนคแซทได้เช่นกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการวิทยุสมัครเล่น
ข่าวสารของดาวเทียมแนคแซทสามารถติดตามได้จาก http://www.knacksat.space/ และเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ @ KNACKSAT
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ