“เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก บล็อกก่อสร้างชีวภาพมวลเบาจากต้นกัญชง”
อีกหนึ่งงานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี น้ำหนักเบากว่าบล็อกก่อสร้างทั่วไป ต้นทุนการผลิตต่ำ ใช้งานได้จริง
การันตีด้วยรางวัลจากเวทีโลกรางวัล Bronze Medal ในงาน “46th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส รางวัลGold Prize กับSpecial Prize ในงาน“Seoul International Invention Fair 2017” (SIIF 2017) ณCOEX กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
นายประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเผยว่า ต้นเศษกัญชงที่เหลือทิ้งจากกระบวนการนำเปลือกไปทำเส้นใย โดยลอกเส้นใย ใช้เป็นสิ่งทอ ทำเสื้อผ้า ซึ่งเมื่อลอกผิวแล้วจะเหลือแกน กลายเป็นวัสดุเหลือใช้
การยาสูบแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง จึงมีโจทย์ต้องการพัฒนานวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ และยังต้องการนำวัสดุก่อสร้างที่ได้จากการวิจัยมาสร้างศูนย์การเรียนรู้อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ การยาสูบแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่) กทม. เพื่อเป็นศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
อันนำมาซึ่งการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ปลูกต้นกัญชงเพื่อสร้างรายได้ทดแทนปลูกใบยาสูบที่ต้องลดปริมาณลง และรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรที่ต้องหารายได้เข้า จึงทำต้นแบบวัสดุก่อสร้างจากแกนต้นกัญชง เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของการยาสูบฯ สำหรับผลิตจำหน่ายเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่าง ๆ
จุดเด่นของ “เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก” ช่วยลดหน้าตัดขององค์อาคารลงได้ เนื่องจากน้ำหนักเบา และใช้เป็นวัสดุฉนวนความร้อนและฉนวนกันเสียง ในการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานได้
“เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก” ออกแบบให้สามารถก่อสร้างอาคารได้ทั้งหลังในระยะเวลารวดเร็ว โดยใช้ระบบเดือย และสลักรางลิ้น จึงไม่ต้องสิ้นเปลืองการฉาบปูนปิดทับผิวหน้า ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเฉพาะแต่ละประเภท ประกอบด้วย บล็อกก่อผนัง บล็อกประสาน และแผ่นซีเมนต์บอร์ด ใช้ก่อผนังอาคารโดยใช้ปูนก่อปกติหรือก่อโดยไม่ใช้ปูนฉาบด้วยวิธียาแนว ซึ่งใช้เป็นผนังฉนวนป้องกันความร้อนและป้องกันเสียงได้ ส่วนของบล็อกปูพื้น และบล็อกประสานปูพื้น ใช้สำหรับปูพื้นทั้งภายนอกและภายในอาคาร โดยปรับพื้นด้านล่างให้เรียบเสมอกันแล้วใช้บล็อกปูด้านบนเรียงต่อกัน สามารถลดการสะท้อนความร้อนเข้าภายในตัวอาคารได้
อย่างไรก็ตาม “เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก” เป็นวัสดุก่อสร้างมวลเบา ความคงทนอาจไม่เท่าวัสดุก่อสร้างมวลรวม เช่น ทราย ปูน ที่ต้องไประเบิดภูเขาหินปูน ซึ่งสักวันทรัพยากรเหล่านี้ต้องหมดไป จึงต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทน
คุณสมบัติพิเศษของวัสดุมวลเบา คือ เป็นฉนวนความร้อนที่โดดเด่น ช่วยลดโลกร้อน ทั้งยังป้องกันเสียงได้ดีอีกด้วย เหมาะใช้งานเป็นวัสดุก่อสร้างอาคารที่อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนที่พักอาศัยทั่วไป โดยมีมาตรฐานมอก.ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
อนาคตจะพัฒนาวัสดุก่อสร้างมวลเบา ให้ไล่แมลงได้ ลดUVสะท้อนรังสีความร้อน และดูดซับคาร์บอน โดยงานวิจัยมีต้นทุนผลิตต่ำ จึงเหมาะกับวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในเชิงพาณิชย์ต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 0-2549-3410
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ