ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมพัฒนา SMEs ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งรายใหม่และรายเดิม ให้สามารถดำรงอยู่และมีพัฒนาการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้มีฐานธุรกิจและฐานภาษีที่กว้างขึ้น สามารถสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ ให้แก่กลุ่มครูและนักเรียน นักศึกษาในสังกัด สอศ. ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้การทำธุรกิจ มีประสบการณ์ด้านธุรกิจทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจให้แก่บุคลากรและผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดทางธุรกิจได้ รวมทั้งรัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการใหม่เพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก และหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งในส่วนของประสบการณ์ในการเป็นผู้ประกอบการ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ได้รับจากกิจกรรม จุดเด่น และข้อควรปรับปรุงในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ สอศ.ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในกลุ่มผู้เรียนอาชีวศึกษา โดยจัดกิจกรรมอบรมเสริมศักยภาพนักศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการ ให้กับทีมธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 100 ทีม จากแผนธุรกิจที่ส่งเข้ารับการคัดเลือกจำนวน 255 ทีม โดยจัดอบรมขึ้น ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16-21 กรกฎาคม 2561 โดยคัดเลือกทีมธุรกิจจำนวน 20 ทีม จาก 100 ทีม เข้ารับการอบรมต่อยอดเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26-28 กันยายน 2561 เพื่อให้ทีมธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกได้มีองค์ความรู้ในเชิงลึกที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นผู้ประกอบการ จากนั้นคณะที่ปรึกษาธุรกิจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจากภาคเอกชน ได้ลงพื้นที่ในสถานศึกษาหรือสถานประกอบธุรกิจ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ทีมธุรกิจทั้ง 20 ทีม ในเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ก่อนจะดำเนินการคัดเลือกและจัดแสดงผลงานของทีมธุรกิจ 20 ทีม
โดยทีมธุรกิจจำนวน 20 ทีม ที่ได้รับคัดเลือกในปี พ.ศ.2561 ประกอบด้วย ด้านนวัตกรรมดีเด่น 7 สถานศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคตาก, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, วิทยาลัยการอาชีพห้วยยอด, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร, วิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด) ด้านแผนธุรกิจดีเด่น 6 สถานศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี, วิทยาลัยเทคนิคพัทยา, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, วิทยาลัยเทคนิคพังงา ด้านผลประกอบการดีเด่น 7 สถานศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่, วิทยาลัยการอาชีพเสนา, วิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์, วิทยาลัยการอาชีพไชยา, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์, วิทยาลัยการอาชีพเวียงสระ, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านความคิดสร้างสรรค์(นวัตกรรม)ดีเด่นได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระนอง ผลงาน ผลิตและจำหน่ายชุดเสาน้ำเกลือผู้ป่วยระยะพักฟื้น 3 in 1 รางวัลชนะเลิศ ด้านการเขียนแผนธุรกิจดีเด่น ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ผลงาน ผลิตภัณฑ์ดินปั้นจากเปลือกมังคุด รางวัลชนะเลิศ ด้านความเป็นไปได้ทางธุรกิจและผลประกอบการดีเด่น ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ ผลงาน ขนมพายข้าวเม่า และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระยอง ผลงาน Chilli The Slim (คุ๊กกี้พริกขี้หนู)
ด้านคณะกรรมการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจากภาคเอกชน จะเป็นผู้คัดเลือกทีมธุรกิจที่ชนะเลิศทั้ง 3 ด้าน ซึ่งทีมธุรกิจที่ชนะเลิศจะได้ไปทัศนศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ Institute of Technical Education (ITE) College Central ประเทศสิงคโปร์ โดยการแบ่งปันประสบการณ์ การนำเสนอผลิตภัณฑ์และลักษณะการดำเนินธุรกิจระหว่างนักศึกษาทีมธุรกิจ กับนักศึกษา ITE ประเทศสิงคโปร์เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในอนาคต
“โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในกลุ่มผู้เรียนอาชีวศึกษา เป็นโครงการหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนกระบวนการ สร้างฐานผู้ประกอบการและส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบรุ่นใหม่ที่มีโอกาสสูงในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้นต่อไป” เลขาธิการ กล่าวปิดท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ