สะพานยาวที่ตัดผ่านทุ่งนาผืนใหญ่สีเขียวสด ใกล้กับพี่วัวและพี่ควาย เจ้าถิ่น ที่ง่วนอยู่กับอาหารเช้า และงานประจำ ท่ามกลางสายลมไร้มลพิษ และมีไอดินกลิ่นหญ้าคละเคล้าอบอวนเบาๆ คือ ธรรมชาติที่สัมผัสได้ตลอดเวลาที่ “ขัวน้อย” สะพานสำคัญของบ้านชีทวน จังหวัดอุบลราชธานี
เสน่ห์ของผืนนาอันเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านพื้นถิ่นที่มีความสวยงาม ชวนให้ใครต่อใครแวะเวียนกันมาแชร์ภาพถ่าย ปักหมุดว่ามา “ฮอดแล้ว” อยู่เสมอๆ แต่เพียงภาพเท่านั้น อาจยังไม่ใช่ความงามทั้งหมดของขัวน้อยและหมู่บ้านเล็กๆ ที่ยังมีอีกหลายแง่มุมให้ค้นหา
รอบๆ “ขัวน้อย” มีหมู่บ้านอยู่รายล้อมคือ บ้านชีทวน บ้านหัวดอน บ้านหนองบ่อ และบ้านท่าศาลา ซึ่งในอดีตขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน ขาดการวางแผนเพื่อจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ และนักท่องเที่ยวยังให้ความสำคัญกับ “สถานที่ท่องเที่ยว” มากกว่าการรับรู้คุณค่า และความหมายที่แท้จริงของชุมชน
แต่เมื่อระยะหลังรัฐบาลมีแนวคิดใช้ “การท่องเที่ยว” เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาและกลุ่มเกษตรกร ผ่านกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ที่คนในชุมชนต้องมาร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมปฏิบัติการ เพื่อผลสัมฤทธิ์สูงสุดคือการยกระดับชีวิต และเพิ่มรายได้ “อย่างยั่งยืน” แก่เกษตรกร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.อินทิรา ซาฮีร์ จากคณะศิลปศาสตร์ และกาญจนา ทองทั่ว คณะรัฐศาสตร์ พร้อมด้วยทีมวิจัย ร่วมกับชุมชนทั้ง 4 คือ บ้านหัวดอน บ้านชีทวน บ้านท่าศาลา และบ้านหนองบ่อ ศึกษาศักยภาพของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนา วิถีข้าว ปลา นา น้ำ มีอะไรบ้าง ทั้งยังศึกษาว่า กลุ่มคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนา วิถีข้าว ปลา นา น้ำ เป็นใครบ้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือและพัฒนาการท่องเที่ยวต่อไป
ผลการศึกษาทีมวิจัยพบ “ศักยภาพ” หลายประการ ไม่ว่าฐานทุนทางวัฒนธรรม อาทิ รูปแบบการทำนา การแปรรูป ความสวยงามของท้องทุ่งและองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัดวาอารามโบราณสถานคู่บ้านคู่เมือง นอกจากนั้น สิ่งที่โดดเด่นและจะนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืนภายในชุมชนคือ “กลไก” หรือกลุ่มแกนนำชาวบ้าน ที่เข็มแข็ง ซึ่งบางชุมชนเช่นบ้านหัวดอน บ้านหนองบ่อผ่านการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาแล้วเช่นกัน
ในแง่ของรูปแบบ ภายใต้กระบวนการวิจัย ทีมวิจัยเชื่อมร้อย Hi-Light ทั้ง 4 ชุมชนนำไปสู่ “เส้นทางการท่องเที่ยว ข้าว ปลา นา น้ำ ที่หลอมรวม ของดีไว้ให้แล้วอย่างกลมกลืน
กินข้าวหอมทุ่งที่ “หัวดอน”
เริ่มที่หัวดอน จุดเด่นของที่นี่คือการมีข้าวห๊อมหอมที่ถูกขนานนามว่า “ข้าวหอมทุ่ง” ซึ่งมีลำต้นใหญ่ เมล็ดโต น้ำหนักดี และมีกลิ่นหอม
สมปอง ตระการไทย แกนนำกลุ่มเกษรกรบ้านหัวดอนบอกว่า เมื่อก่อนทำนา เก็บเกี่ยวและขายโดยมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อถึงแปลงนา พอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทำให้รู้ว่า จริง ๆ แล้วตัวเกษตรกรเองทำได้มากกว่าปลูกข้าวแล้วขายให้พ่อค้า
“ได้ตังค์มาก็จบ เราไมเคยคิดว่าถ้าขายไม่ได้เราจะทำอย่าง รู้แค่ว่าต้องลดราคา เดี๋ยวนี้เริ่มดีขึ้น คือรู้ว่าข้าวของเรามีคุณค่า คือมีความหอม รสชาติดี เม็ดใหญ่ เอาไปบดแล้วไม่แตก ที่อื่นปลูกไม่เหมือนเรา เราจะทำอย่างไรที่เพิ่มคุณค่า เราร่วมกับอาจารย์วรินดา สุทธิพรม ปรับปรุงกรรมวิธีการปลูก จากใช้สารเคมีเป็นนาปลอดภัย และทำการตั้งกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมทุ่ง ร่วมกันกำหนดราคาขาย หาตลาดใหม่ ๆ ที่นอกจากนั้นยังมีการทำโรงแปรรูปข้าวเม่า”
นอกจากความหอมของข้าว “การเกี่ยวก็โดดเด่นและน่าสนใจ” เนื่องจากพื้นที่นาของชุมชนเป็นนาทาม น้ำจะท่วมในนาข้าว บางปีชาวบ้านต้องพายเรือเกี่ยวข้าวซึ่งเป็นภาพความสวยงามบนความยากลำบากของชาวบ้านแต่กลายเป็นของแปลกที่นักท่องเที่ยวต้องที่บ้านหัวดอน
“ขัวน้อย” วิวร้อยล้าน “บ้านชีทวน’
ส่วนขัวน้อย มีเบื้องหลังที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเบื้องหน้า นั่นคือประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน สันนิษฐานว่า ถูกสร้างขึ้นด้วยไม้เนื้อแข็งตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว เพราะความจำเป็นในการสัญจรไปมา อดีตนั้นสร้างไว้เพื่อใช้เดินไปยังชุมชนต่างๆที่อยู่ใต้การปกครองของท้าวฝ่าย(ผู้นำ) เนื่องจากชีทวนเป็นชุมชนใหญ่ มีประชากรอยู่จำนวนมาก
ปัจจุบันขัวน้อยถูกเปลี่ยนจากไม้เป็นคอนกรีตและใช้เป็นทางเชื่อมระหว่างหมู่ที่ 1 บ้านชีทวน และหมู่ที่ 7 บ้านหนองแคน โดยผืนนาที่เห็นรายล้อมสะพานความยาวกว่า 300 เมตรนั้นเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้านชีทวนหลายรายรวมกัน
บีบข้าวปุ้น ลงลำชี ณ ‘ท่าศาลา’
จากขัวน้อยไปทางตะวันตก ในเขตตำบลชีทวน คือบ้านท่าศาลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากบ้านชีทวน ด้วยการมาตั้งชุมชนอยู่ริมน้ำ ที่นีจึงเป็นเหมือนตัวแทนวิถีชาวนาและชาวน้ำ หรือ “นากับน้ำ” ได้เป็นอย่างดี
จุดเด่นของที่นี่คือการแปรรูปข้าวเป็นขนมจีนมาที่นี่ จะได้เห็นการทำขนมจีนแบภูมิปัญญาชาวบ้านและการแปรรูป “ปลาส้ม” จากแม่น้ำชีด้วย เพราะตามลักษณะภูมิประเทศของตำบลชีทวนทั้ง 11 หมู่บ้าน ส่วนของหมู่ที่ 4-5 บ้านท่าศาลาด้านหนึ่งจะติดกับแม่น้ำชี ดังนั้นนอกจาก “ข้าว” แล้ว ชาวบ้านจึงมี “ปลา” ด้วย
“ใส่ชุดไหมไปทำนา” ที่บ้านหนองบ่อ
หนองบ่อเป็นพื้นที่นาทาม คือพื้นที่น้ำท่วม ชื่อเสียงของหนองบ่อคือเรื่องของการทอผ้าไหม ที่นี่เป็นที่เดียวในประเทศไทยที่ชาวนา “ใส่ชุดไหมไปทำนา” นอกจากการทอผ้า บ้านหนองบ่อยังมีการฟื้นการฟ้อนกลองตุ้มโบราณของชุมชน ซึ่งตามประเพณีของบ้านหนองบ่อจะให้ชายแต่งกายเป็นผู้หญิง คือนุ่งซิ่นหมี่ และหญิงนุ่งโสร่งไหมอย่างผู้ชาย เพื่อให้ผิดธรรมดาและพญาแถนจะได้ไม่พอใจเทน้ำมาล้างสิ่งที่ไม่ดี
ปัจจุบันนี้แม่ประคองและชาวบ้านได้ประยุกต์ให้กลองตุ้มฟ้อนได้ในทุกโอกาส กำหนดท่าที่แน่นอนขึ้น ได้แก่ ท่าไหว้ครู ท่าทอผ้า ท่าบัวตูมบัวบาน ท่าเซิ้งโบราณ ท่านกบินกลับ ซึ่งทุกท่าล้วนสื่อความหมายถึงวิถีชีวิตของชุมชน
ข้าว-ปลา-นา-น้ำ…วิถีชาวนาอุบลฯ
แม้ว่าในระยะที่ผ่านมา บ้านหนองบ่อ อำเภอเมือง บ้านชีทวน บ้านหัวดอน และบ้านท่าศาลา อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี จะได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด แต่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นยังมีส่วนร่วมจากชุมชนน้อย
กระบวนการวิจัยที่กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินงานร่วมกับชุมชนทำให้ทุก ๆ ฝ่าย ได้เข้ามาดำเนินกิจกรรมร่วมกันเพื่อทำให้ชุมชนได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการการท่องเที่ยว
ในขณะพื้นที่รอยต่อของทั้งสี่หมู่บ้านมีวิถีชีวิต ภาษาและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาชีพที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ชาวบ้านจึงมีภูมิปัญญาที่เกิดจากการสั่งสมมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกข้าว การทำประมง การแปรรูปอาหาร การทอผ้า ว่างจากภารกิจก็มีการฟ้อนรำ อันเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและศาสนา
และด้วยวิถีชีวิตของชุมชนที่ยังเกี่ยวข้องกับวิถีข้าว ปลา นา น้ำ ที่ทรงคุณค่า ทำให้เส้นทางการเชื่อมต่อของทั้ง 4 หมู่บ้านมีความน่าสนใจ และผลักดันในเกิดการเชื่อมร้อยเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวได้ในอนาคต
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ