ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า การเรียนการสอนสายวิชาชีพในปัจจุบัน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยให้ความสำคัญต่อการลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ การจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาจึงต้องชัดเจนในการตอบสนองความต้องการด้านกำลังของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และบริการของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม First S-CURVE 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร ส่วนกลุ่ม NEW S-CURVE ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ชาติชาย ตลุนจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพัทยา กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ด้านอาชีวศึกษา ของวิทยาลัยเทคนิคพัทยา ต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับความต้องการของสถานประกอบการ และการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีความต้องการแรงงานในระดับอาชีวศึกษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น วิทยาลัยเทคนิคพัทยาจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพให้มากขึ้น โดยกำหนดจัดงาน Open House 2018 “เทคนิคพัทยาปริทรรศน์ ครั้งที่ 2” ขึ้น ระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2561 ณ อาคารอเนกประสงค์ และพื้นที่ภายในบริเวณวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปทราบถึงแนวทางในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาประเทศด้วยกำลังคนอาชีวศึกษา อีกทั้ง เป็นการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษา ให้มีจำนวนมากขึ้น
ภายในงานมีกิจกรรมการจัดแสดงผลงานทางวิชาการ การแสดงนิทรรศการและเทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมของสาขาวิชาที่หลากหลาย ความเป็นเลิศในทักษะวิชาชีพด้านต่าง ๆ การประชุมองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย การรายงานตัวนักเรียนโควต้า, การรับสมัครเข้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (โควต้าพิเศษ), แนะแนวการศึกษาต่อ, สัมมนาวิชาการ, การแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะวิชาชีพพื้นฐาน, การแข่งขันเกมส์ทางวิชาการ, การประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ไทยสากล(ชาย หญิง), การแสดงบนเวที, การจัดจำหน่ายอาหารนานาชาติของนักเรียน, ตลาดนัดสินค้า OTOP ของนักเรียน นักศึกษา, การแสดงเทคโนโลยียานยนต์. เทคโนโลยีด้านโรบอติก, เทคโนโลยีด้านเครื่อง CNC, แมคคาทรอนิกส์ และนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์
เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา การจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบระบบปกติ รูปแบบทวิภาคี และรูปแบบการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกอาชีพในสถานประกอบการ สอศ.ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษา จึงมีการลงนามความร่วมมือกับสถานประกอบการหรือหน่วยงาน จำนวน 60 แห่ง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนได้ตรงความต้องการของสถานประกอบการ อีกทั้งเป็นการพัฒนาทักษะวิชาชีพได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นการเพิ่มพูนความรู้ และเรียนรู้ประสบการณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูวิชาชีพและบุคลากรอาชีวศึกษา
การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่อำเภอบางละมุง และพื้นที่ใกล้เคียง สถานประกอบการที่ให้การสนับสนุน ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคพัทยา เป็นสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ดังนั้น การจัดงาน OPEN HOUSE 2018 “เทคนิคพัทยาปริทรรศน์ ครั้งที่ 2” ในครั้งนี้ จึงเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในพื้นที่อำเภอบางละมุง และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับทราบและเข้าใจแนวทางการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ตลอดจนนำไปสู่การตัดสินใจเลือกเรียนด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งการมีงานทำในอนาคต และพัฒนาเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญ เพื่อตอบสนองเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป เลขาธิการ กล่าวปิดท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ