ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีครอบครัวมิได้มีเพียงแต่การฟ้องคดีเพื่อตัดสินข้อขัดแย้ง หรือข้อพิพาทได้ หากแต่ยังมีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในหลายรูปแบบที่สามารถช่วยให้คู่พิพาทได้เลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาท อีกทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดี ตกลงกันอย่างฉันท์มิตรและสร้างความเข้าใจให้กันได้
การระงับข้อพิพาททางเลือก จะเริ่มต้นจากการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นกระบวนการแรกสุดเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างตัวบุคคล แต่หากการพูดคุยทั้งสองฝ่ายไม่เป็นผลจึงอาจต้องมีบุคคลที่สามที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับเข้าช่วยเป็นตัวกลางประสานให้ทั้งสองฝ่ายบอกความต้องการและมุ่งหาทางออกร่วมกัน
กระบวนการระงับข้อพิพาทดังกล่าวนี้เรียกว่า การไกล่เกลี่ย หรือการประนอม
สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในครอบครัวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงควรเป็นไปด้วยความเข้าใจและรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันให้ได้มากที่สุด
โดยที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการประนอมไว้ในหมวด13การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัว เพื่อให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันของครอบครัวเป็นหลัก
การไกล่เกลี่ยคดีครอบครัวในประเทศไทยนั้น จะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องหย่า การแบ่งสินสมรส เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู อำนาจปกครองบุตร การเรียกค่าทดแทนหรือเรียกค่าเลี้ยงชีพ (เพราะเหตุแห่งการหย่า) หรือขอให้รับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีครอบครัวเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทที่สำคัญที่มาช่วยกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องใช้เวลา เสียค่าใช้จ่ายมากและทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวถดถอย กฎหมายเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อน ซึ่งบิดา มารดา และบุตรไม่สามารถตัดขาดจากกันได้โดยสิ้นเชิง รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีการพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 จึงกำหนดให้ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทให้ศาลตั้งผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว เพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความในคดีครอบครัวได้ประนีประนอมกันและมีโอกาสเจรจาและตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการประนีประนอมยอมความ โดยมีผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวเป็นคนกลาง
ซึ่งในข้อ 31 แห่งข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและการรายงานผลการไกล่เกลี่ยในคดีครอบครัว พ.ศ. 2554 กำหนดให้กระบวนการไกล่เกลี่ยให้ดำเนินการเป็นการลับและไม่ให้มีการบันทึกรายละเอียดของการไกล่เกลี่ยไว้ เว้นแต่คู่ความจะตกลงกัน และมาตรา 148 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้หลักเกณฑ์ วิธีการไกล่เกลี่ยและการรายงานผลเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
การไกล่เกลี่ยคดีครอบครัวในศาลเยาวชนและครอบครัวแบ่งเป็นสองขั้นตอน คือ 1. การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีต่อศาล คู่ความร้องขอให้ศูนย์ไกล่เกลี่ยเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ซึ่งการไกล่เกลี่ยเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หากสำเร็จจะจดทำบันทึกข้อตกลงให้แก่คู่ความมีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
2. การไกล่เกลี่ยหลังฟ้องศาล คู่ความสามารถไกล่เกลี่ยได้ทั้งวันนัดก่อนพิจารณาครั้งแรก หรือระหว่างการพิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา หากสำเร็จจะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันซึ่งถือว่าเป็นคำพิพากษาตามยอมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย
ผลของการไกล่เกลี่ยจะแบ่งแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
1.กรณีที่การไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จ มีการถอนฟ้อง หรือคู่ความประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ให้ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นและเสนอศาลเพื่อพิจารณา เมื่อศาลเห็นว่าสัญญาดังกล่าวไม่ฝ่าฝืน หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ซึ่งยังมีกรณีที่ศาลอาจจะไม่พิพากษาแต่กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้คู่ความทดลองปฏิบัติตามสัญญาก่อนก็สามารถทำได้ เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้คู่พิพาทฝ่ายบิดา รับผิดชอบจ่ายเงินค่าเทอมบุตรในการศึกษาติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น โดยหากคดีครอบครัวนั้นๆ ผู้เยาว์มีประโยชน์ หรือมีส่วนได้เสียให้ศาลคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เยาว์เป็นสำคัญ
2.กรณีคู่ความไม่อาจตกลงกันได้ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ผศ.ทัชชภร มหาแถลง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จ คือ ความสมัครใจของคู่ความที่ประสงค์จะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างแท้จริงไม่ได้คิดทำเพื่อจะประวิงเวลาเท่านั้น ทุกฝ่ายต้องเปิดใจยอมรับเพื่อเข้าสู่กระบวนการ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากความพร้อมที่จะเตรียมตัวเตรียมข้อเท็จจริงมาแสดงเพื่อประโยชน์ในการพูดคุยไกล่เกลี่ยกัน ความรับผิดชอบที่จะเข้าร่วมตามวันเวลาที่นัดหมายซึ่งต้องให้ความร่วมมือกับผู้ประนีประนอมด้วย
ดังนั้น ผลของการไกล่เกลี่ยจึงอยู่กับความตั้งใจของคู่ความมากกว่าสิ่งอื่นใด หากมิได้มีความจงใจที่จะทำให้กระบวนการยุ่งยาก แค่เพียงคู่ความให้ความร่วมมือต่อกันทุกฝ่ายย่อมเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมตามข้อเสนอที่ตนเองต้องการ
และการไกล่เกลี่ยในคดีครอบครัวถือเป็นการนำคนกลางเข้าสู่กระบวนการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งจะไม่ให้คู่พิพาทเจรจากันตามลำพังแต่ใช้คนกลางเข้ามาช่วยเหลือซึ่งได้รับการยอมรับจากคู่กรณีซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการทางศาลแล้วย่อมมีข้อดีกว่า ด้วยกระบวนการทางศาลที่มีลักษณะการพิจารณาที่ไม่เป็นความลับ ต่างฝ่ายต่างต้องนำหลักฐานขึ้นมาพิสูจน์เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ฝ่ายตนเป็นผู้ชนะ
จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญใหญ่ที่ทำให้เกิดความแตกแยกของความสัมพันธ์เพราะเป็นการนำเรื่องในครอบครัวออกมาให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ เป็นไปตามหลักพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและการรายงานผลการไกล่เกลี่ยในคดีครอบครัว พ.ศ. 2554 ซึ่งหัวใจของคดีครอบครัว คือ ความสงบสุขของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว มุ่งคุ้มครองสถานภาพการสมรสให้คงอยู่ แต่หากจำเป็นต้องมีการหย่าร้างต้องให้เป็นการหย่าเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นหลัก
ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าการเลือกใช้วิธีการฟ้องคดีควรเป็นวิธีการสุดท้ายที่คู่พิพาทจะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา การนำการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เรียกว่า การไกล่เกลี่ยหรือการประนอมมาใช้จะมีความเหมาะสมกว่า ด้วยกระบวนการที่รักษาความลับและมุ่งประสานความสัมพันธ์ให้จบด้วยความเข้าใจและยอมรับในสิ่งแต่ละฝ่ายร้องขอ
แม้ผลลัพธ์จะออกมาว่าฝ่ายใดได้ประโยชน์มากหรือน้อยแต่ขอให้มั่นใจว่าทุกคนตั้งใจที่จะเลือกรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวคงอยู่มากกว่าเลือกที่จะให้ตนเองชนะแต่เพียงอย่างเดียว บางครั้งการไกล่เกลี่ยอาจประสานรอยร้าวในความสัมพันธ์ให้กลับมาดีดังเดิมได้ด้วย
ผศ.ทัชชภร มหาแถลง
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ