สยามเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตโพลล์เผยสำรวจความเห็นพ่อแม่ถึงสาเหตุที่นำไปสู่พฤติกรรมกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญ ระบุปัญหาลดได้ถ้าพ่อแม่ ครู รุ่นพี่ร่วมด้วยช่วยกัน เผยรร.ใช้วิธีไกล่เกลี่ยประนีประนอมเมื่อเกิดปัญหากลับยิ่งกระพือให้หนักยิ่งขึ้น ทั้งเห็นด้วยที่จะให้พ่อแม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบโทษฐานปล่อยปละ
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลสำรวจ “ความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษา” สำรวจระหว่างวันที่ 26- 31 ต.ค.61 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,089 คน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศชายร้อยละ 48.03 และเพศหญิงร้อยละ 51.97 สรุปผลได้ดังนี้ สาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ คึกคะนองตามวัยของตัวนักเรียนคิดเป็นร้อยละ 84.11 พฤติกรรมเลียนแบบ/ทำตามเพื่อน/เพื่อนชักชวนคิดเป็นร้อยละ 82.19 ขาดการดูแลเอาใจใส่จากครูอาจารย์คิดเป็นร้อยละ 79.98 ขณะที่ร้อยละ 77.41 ระบุว่าผู้บริหารโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับปัญหา
ในด้านความกังวลต่อปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญที่จะเกิดกับบุตรหลานนั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.21 ยอมรับว่ากังวลว่าบุตรหลานจะถูกนักเรียนในสถานศึกษาเดียวกันกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.52 ว่าไม่กังวล ส่วนร้อยละ 9.27 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทช่วยลดปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมดังกล่าวลงได้มากที่สุด 3 กลุ่ม คือ พ่อแม่ผู้ปกครองร้อยละ 90.08 ครูอาจารย์/ผู้บริหารโรงเรียนร้อยละ 88.15 และนักเรียนรุ่นพี่คิดเป็นร้อยละ 84.76 ขณะที่ร้อยละ 82.55 ระบุว่าเพื่อนนักเรียน
ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมดังกล่าวนั้น สามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.76 เห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาแก้ปัญหาเมื่อเกิดกรณีนี้โดยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์/ชื่อเสียงของสถานศึกษามีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น
ขณะที่มากกว่าสามในสี่หรือร้อยละ 77.32 เห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาใช้วิธีไกล่เกลี่ยประนีประนอมมีส่วนทำให้ปัญหากลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น นอกจากนี้ ร้อยละ 70.52 เห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาไม่เข้าใจวิธีดูแลนักเรียนพิเศษ/พิการที่ถูกต้องมีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบวิธีแก้ปัญหานักเรียนที่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญในสถานศึกษาระหว่างการเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกับการเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 47.29 เห็นว่าควรใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน ขณะที่ร้อยละ 33.43 เห็นว่าการให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหมาะสมกว่า โดยที่ร้อยละ 19.28 เห็นว่าการให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมายมีความเหมาะสมกว่า
ในด้านการกำหนดบทลงโทษและความจำเป็นในการแก้ปัญหานั้น ร้อยละ 73.92 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษทางวินัย/อาญากับผู้บริหารสถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลยให้สถานศึกษาของตนเกิดปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ร้อยละ 72.45 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญนักเรียนคนอื่นอย่างต่อเนื่องภายในสถานศึกษา และสี่ในห้าหรือร้อยละ 80.35 เห็นว่าก.ศึกษาธิการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาดเข้มงวดมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ