เชื่อมโยง”บิ๊กดาต้า”ผลิต-พัฒนาคนอาชีวะ บูรณาการแผนร่วม กศน.ฝึกทักษะอาชีพ เพิ่มวุฒิเป็นม.ต้นและม.ปลาย
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยว่า จากนโยบายด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ของก.ศึกษาธิการ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ใน 6 ศูนย์ภาค และ 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด ทั่วประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ10 อุตสาหกรรม โดยล่าสุดได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อเป็นศูนย์กลาง ด้านบริหารข้อมูล Big Data ทั้งรวบรวม วิเคราะห์ และสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ และปริมาณที่เพียงพอสอดคล้องความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ
ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวได้มีการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ร่วมกับก.แรงงาน ทั้งด้านSupply และDemand โดยจับคู่ข้อมูลผู้จะจบการศึกษาปี 61 กับข้อมูลกรมการจัดหางานแบบรายจังหวัด และข้อมูลอาชีพที่แรงงานจังหวัดต้องการ สรุปลำดับความต้องการกำลังคน ซึ่งสอศ.จะได้นำไปดำเนินการในการจัดการเรียนการสอนและวางแผนผลิตกำลังคนต่อไป พร้อมทั้งเจรจา จัดทำข้อตกลงความร่วมมือ MOU เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้รับการฝึกและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก่อนจบการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ จะเปิดหลักสูตรใหม่ 12 สาขา ระดับปวช. และหลักสูตร ใหม่ 23 สาขา ในระดับปวส. เป็นหลักสูตร S-curve 13 หลักสูตร และเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงการจัดลำดับสถานศึกษา พร้อมทั้งแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และนอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการในเรื่องของการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ ทุนการศึกษา เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ สนับสนุนการมีงานทำและการมีรายได้ระหว่างเรียนกว่า 778,00 คน รวมไปถึงข้อมูลของการมีงานทำ และการศึกษาต่อ
ขณะที่ในส่วนการบูรณาการแผนปฏิบัติการระหว่าง สอศ. และ กศน. ในการฝึกอบรมทักษะอาชีพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีแนวทางให้สอดคล้องกับการบริหารของ กศน. โดยร่วมกับ กศน.อำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงานสถานศึกษา โดยจัดกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เรียน กศน.ระยะสั้น และกลุ่มผู้เรียน กศน. เพื่อเพิ่มวุฒิเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) โดยเพิ่มเติมให้เรียนวิชาชีพและฝึกทักษะอาชีวศึกษา เป็นวิชาเลือกเสรี ซึ่งจะคงตามหลักสูตรของ กศน. เพื่อไม่ให้กระทบ รวมถึงการเข้าพบกลุ่มของนักศึกษา ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เรียนได้ 10,000 คน ในแต่ละปี ซึ่งจะได้หารือในรายละเอียดต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ