ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ Chongqing Technology and Business Institute (CQTBI) จัดโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้นักศึกษา รุ่นที่ 2 ซึ่งมีนักศึกษาอาชีวศึกษาเข้าร่วมการฝึกอบรมประสบการณ์วิชาชีพ ในสาขาศิลปกรรม สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิกรวม จำนวน 25 คน จาก 6 สถานศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง 6 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ 5 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี 4 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต 5 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี 3 คน และวิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ 2
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า นับเป็นโอกาสที่ดีของนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของประเทศจีน ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรวดเร็วมาก มีความทันสมัยแบบก้าวกระโดด การส่งนักศึกษาไปครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านวิชาชีพแต่ละสาขา ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การฝึกอบรมครั้งนี้ สอศ.ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากจีนเป็นค่าที่พัก ค่าหนังสือ ค่าครองชีพ ให้นักศึกษาเดือนละ 1,000 หยวน (หยวนละ 5 บาท) และค่าบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศ ให้กับนักศึกษา โดยนักศึกษาที่เดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะใช้เวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2561 – 12 มกราคม 2562 ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน HSK ระดับ 2 (Hanyu Shuiping Kaoshi) และเข้าร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางภาษาจีนและวิชาชีพก่อนเดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า สอศ. เชื่อมั่นว่านักศึกษาจะรับการพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ เจตคติและกิจนิสัยในการทำงานที่สอดคล้องกับโลกอุตสาหกรรม และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านวิชาชีพให้บรรลุตามความมุ่งหมายของหลักสูตร จึงต้องให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริง เพื่อเสริมสร้างทักษะ การเรียนรู้ และปรับปรุงบุคลิกภาพให้เหมาะสมกับการทำงาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในโลกอาชีพได้อย่างแท้จริง นักเรียนนักศึกษาจะเกิดการพัฒนาที่ก้าวกระโดด ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ระเบียบวินัยในการทำงานเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ และเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมเข้าสู่ตลาดกำลังคนอย่างมีคุณภาพต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ