นักวิชาการมธ.ชี้ ขาดทักษะ-ขาดการส่งเสริม-ขาดโอกาส ผนึก 4 หน่วยงาน ดันโครงการ SIY ชู “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” สร้างเด็กพันธุ์ใหม่ร่วมกำหนดทิศทางนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
ผศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ ผอ.โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมากำหนดและดำเนินการโดยผู้ใหญ่ ตั้งแต่กระบวนการคิด การลงมือทำ การแก้ปัญหา ซึ่งล้วนแต่เป็นมุมมองการพัฒนาที่เกิดขึ้นแค่ด้านเดียว จึงเกิดช่องว่างทางสังคม ระหว่างเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ ทำให้เกิดจุดอ่อนของเด็กไทย 3 ประเด็นหลัก คือ ขาดการพัฒนาทักษะการใช้ที่ชีวิตที่ทันต่อสถานการณ์, ขาดการส่งเสริมระบบการศึกษาที่เหมาะสม, ขาดโอกาสจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม
องค์กรภาคีหลัก 4 หน่วยงาน ได้แก่ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันผลักดัน “โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน” เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงออกและสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
ผศ.ชานนท์กล่าวว่า โครงการจะผ่านกรอบแนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” กระบวนการเริ่มต้นจากพัฒนาศักยภาพด้านวิจัยเบื้องต้นแก่เยาวชน จากนั้นจะร่วมกันวิจัยเพื่อค้นหารูปแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนระดับตำบล เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของสังคมที่เด็กและเยาวชน เป็นผู้เลือก กำหนดเป้าหมาย ตามความถนัด ตามความสนใจ ผสมผสานการสนับสนุนจาก “เบญจภาคี” ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเศรษฐกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเด็กเยาวชน รวมทั้งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “SIY” กว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และยังมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีกลไกพัฒนาเด็กและเยาวชนผิดทาง คือ มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจนละเลยเรื่องการป้องกัน ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา และทำให้ไทยเสียโอกาส แต่การพัฒนาให้เกิดการป้องกันที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนในระยะยาว ที่สำคัญต้องเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาให้มากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างน้อยให้ได้ 70 ต่อ 30 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นอย่างตรงจุด
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ