กลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ พาครูร้องกองปราบดำเนินคดี “ สกสค. -ธ.ออมสิน – บ.ทิพยประกันภัย” ฉ้อโกง มัดมือบังคับทำประกันชีวิต ตามยอดเงินกู้ แฉนำเงินครูลงทุนโซลาร์เซลล์ โดยผิดระเบียบ
ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 09.30 น.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ตัวแทนกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ พร้อมด้วยตัวแทนครูจากทุกภาคของประเทศกว่า 100 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบก.ป.เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค. ) ธนาคารออมสิน และบริษัททิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน) ที่ส่อว่าน่าจะฉ้อโกงประชาชน กรณีหนี้สินครูโครงการ 1-7 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยนำหลักฐานการกู้มามอบให้เพื่อพิจารณา
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเรียกว่า “โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส.” เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดย ธ.กรุงไทยปล่อยกู้ยอดสูงสุด 2 แสนบาท และมามีปัญหากันในภายหลัง ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฐานะกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ ได้ติดตามเรื่องราวและศึกษาข้อเท็จจริงมาตลอด 9 เดือนเต็ม จนได้รับรู้ในข้อเท็จจริงที่ว่ามี 3 ใน 7 โครงการที่อ้างว่าจะช่วยครูที่มีภาระหนี้สินปลดหนี้ได้นั้นเชื่อว่ามีพฤติกรรมที่น่าจะเข้าข่ายฉ้อฉลคือมีการหักประกันสัญญาเงินกู้ที่อ้างว่าจะเอาเงินที่หักแต่ละครั้งไปประกันชีวิต โดยโครงการที่ 5 ยอดเต็มสินเชื่อ 600,000 บาท แต่ครูต้องจ่ายเบี้ยประกันไปเฉลี่ยรายละ 30,000 บาท โครงการที่ 6 ยอดสินเชื่อสูงขึ้นเป็น 1,200,000 บาท มีมากกว่า 5 แสนบัญชี ยอดเงินกู้กว่า 600,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละคนต้องต้องยอมจ่ายเบี้ยฯ รายละ 60,000บาท และโครงการที่ 7 ยอดสินเชื่อสูงสุด 3 ล้านบาท มากกว่า 5 แสนบัญชี เงินมากกว่า 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งครูทั้งหมดที่กู้โครงการห้า-หก-เจ็ดถึงร้อยละ85 ทั้งหมดทางต้องยอมจ่ายเบี้ยฯ รายละ 186,300 บาท เพื่อประกันชีวิต แต่สุดท้ายจริงๆแล้วก็ไม่ได้กรมธรรม์ตามที่สัญญาไว้ ทำให้ครูทั่วประเทศเดือดร้อนกว่า 450,000 คน
ทั้งนี้เมื่อครูทวงถามก็ไม่ได้คำตอบ ซึ่งการประกันชีวิตสุดท้ายกลายเป็นประกันอุบัติเหตุรายปี และต้องกลายเป็นว่าจ่ายเบี้ยประกันกินเปล่า ทำให้ครูต้องมีภาระดอกเบี้ยรวม 3 สัญญา มูลค่าร่วม 40,000 ล้านบาท เมื่อทวงถามว่าองค์กรไหนที่รับผิดชอบเรื่องความโปร่งใสในจำนวนดังกล่าวก็ไม่ได้คำตอบ และใน 40,000 ล้านบาทได้ประกันจริงๆ กี่รายก็ไม่ได้คำตอบ ซึ่งได้พิจารณาแล้วในข้อเท็จจริงทั้งหมดเชื่อได้ว่ามีความฉ้อฉลบนความเดือดร้อนของครู และครูต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยไปโดยไม่จำเป็น ทั้งหมดนี้จึงจำเป็นต้องมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองปราบเพื่อให้ทางกองปราบใช้อำนาจหน้าที่ในการสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และตัวแทนครูทั่วประเทศกว่า 100-200 คนที่มาในวันนี้ก็พร้อมจะเป็นตัวแทนเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน
ด้าน นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทางเราอยากให้ตำรวจกองปราบปรามช่วยสืบสวนให้ด้วยเนื่องจากเป็นความทุกข์ของข้าราชการชั้นผู้น้อยเหมือนกับการฉ้อโกงสหกรณ์ตำรวจที่เมืองเลย ทั้งนี้เมื่อครั้งที่ตนเองเคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรก็ได้คัดค้าน สคสก. ที่จะบังคับให้ครูทุกคนทำประกันชีวิต โดยหากกู้เงิน 3 แสนบาท ต้องทำประกัน 3 หมื่นบาท กู้ 1.2 ล้าน ทำประกัน 6 หมื่น และ 3 ล้าน ต้องทำประกัน 1.8 แสนบาท จนกระทั่งทาง สคสก. บอกว่าจะไม่มีการบังคับแต่อย่างใด แต่เมื่อบรรดาครูมาทำสัญญากลับมีเงื่อนไขบังคับให้ทำสัญญาประกันชีวิตเนื่องจากครูไม่สามารถหาคนมาค้ำประกันได้ ทางครูได้มาร้องเรียนกับตนเอง จึงได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลา เก้าเดือน
“ยอมรับว่านี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของอาชญากรแฝงมากับปีศาจในคราบนักบุญ ทำมาหากินกับคนเป็นครู ทำนาบนหลังครู จริงๆ แล้วพวกครูไม่ได้ต้องการเบี้ยวหนี้หรือชักดาบ แต่ถูกหลอกล่อด้วยเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งอยากให้กองปราบปรามกระชากหน้ากากพวกปีศาจ 3 ตัวนี้ มาดำเนินคดีให้ได้ อย่างไรก็ตามนอกจากนี้อยากให้ทางรัฐบาลได้เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินทั้งของครู เกษตรกร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งแพทย์และพยาบาล ซึ่งทราบว่าหนี้สินของรัฐมีถึง 20 ล้านล้านบาท โดยหนี้ภาคครัวเรือนมีประมาณ 12 ล้านล้านบาท หากทำเป็นวาระแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีควรตอบประชาชนด้วยว่าท่านมีนโยบายแก้ปัญหานี้อย่างไร เนื่องจากเป็นปัญหาที่หนักอกประชาชนมาตลอด” นายสมเกียรติ กล่าว
ส่วน นายสำคัญ จงโกเย็น ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กล่าวว่า ได้กู้เงินจากโครงการดังกล่าวจำนวน 1.2 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวซ่อนเร้นอำพรางเรื่องหักเอาเงินเบี้ยประกันหนี้ไว้ล่วงหน้า 9 ปี โดยการบริหารกองทุน ช.พ.ค.ของ สกสค. กลับทุจริตมีการนำเงินดังกล่าวจำนวน 2,000 กว่าล้านบาทไปลงทุนในโครงการโซลาร์เซลล์ และอื่นๆ จำนวนมาก โดยผิดวิธีผิดระเบียบและข้อกฎหมายกำหนด ควรให้ผู้เสียหายเข้าชื่อร้องทุกข์ต่อหน่วยงานปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของรัฐต่อไป
เบื้องต้นทาง พ.ต.อ.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบก.ป.ได้มอบให้พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.รับเรื่องไว้ ก่อนทำการสอบปากคำผู้ร้องไว้ จากนั้นจะนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ