สภาพโดยรวมของ บ้านตะโละมีญอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เหมือนหมู่บ้านชนบทชายแดนใต้ทั่วไป เป็นชุมชนมุสลิม ประกอบอาชีพเกษตรกรรม กว่าร้อยละ 70 ไม่มีที่ดิน ต้องรับจ้างและย้ายถิ่นไปหางานทำต่างประเทศ
ส่งผลให้เด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านตะโละมีญอ ไม่น้อยต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะต้องย้ายตามผู้ปกครอง บ้างก็ถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายาย เสี่ยงทั้งขาดเรียน ติดเกม และยาเสพติด
คณะครูของโรงเรียนบ้านตะโละมีญอ จึงเน้นจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับอาชีพชุมชนเช่น ปลูกผัก เพาะเห็ด ทำนาบนที่ดินว่างข้างโรงเรียนได้ข้าวมาเป็นอาหารกลางวันของนักเรียนสองร้อยกว่าคน และยังสร้างสัมพันธภาพภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนและคนในชุมชน
ความสำเร็จของโรงเรียนทำให้เกิดการขยายผลต่อ ด้วยคณะครูเห็นว่า แทบทั้งหมดของชุมชนทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ส่งผลต่อสุส่งเสริมให้ชุมชนลดละเลิกใช้สารเคมี เริ่มจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีราคาแพงและทำลายผืนดินในระยะยาวขภาพโดยรวมของคนในพื้นที่ จึงมีแนวคิด
“ในชุมชนมีมูลสัตว์มากมาย พวกมูลวัว มูลแพะ แต่ชาวบ้านไม่นิยมใช้เพราะไม่สะดวก และให้ผลผลิตสู้ปุ๋ยเคมีไม่ได้” ปวีณา มะแซ ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯเล่า
คณะทำงานจึงหาทางนำเอามูลสัตว์ทั่วไปมาปรับปรุงให้เป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนเพื่อเพิ่มทั้งมูลค่าและประสิทธิภาพ โดยให้นักเรียนฝึกประสบการณ์เรียนรู้ลี้ยงไส้เดือน โดยเฉพาะทักษะด้านประกอบอาชีพ
ทั้งส่งเสริมให้คนในชุมชนใช้ปุ๋ยจากมูลไส้เดือนแทนใช้ปุ๋ยเคมี “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพผลิตปุ๋ยชีวภาพจากมูลไส้เดือน” จึงเกิดขึ้น โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ชาวบ้านและผู้ปกครองในชุมชนจำนวนไม่น้อยได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ ร่วมกันปรับปรุงห้องเก็บของให้เป็นโรงเพาะเลี้ยงไส้เดือน สนับสนุนทำ เบดดิ้ง (Bedding) เพื่อเลี้ยงไส้เดือนโดยนำมูลวัวมูลแพะที่มีไปแช่น้ำเตรียมเป็นอาหารไส้เดือน และยังร่วมดูแลไส้เดือนร่วมกับลูกหลาน ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
กระทั่งโครงการเลี้ยงไส้เดือนของเด็กๆ ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนจำนวนมาก และขยายผลกิจกรรมไปสู่การเก็บรักษา ออกแบบบรรจุภัณฑ์ จัดแสดงส่งเสริมความรู้ปุ๋ยไส้เดือนรวมไปถึงการจัดจำหน่ายได้อย่างครบวงจร
แม้ว่าจะผลิตปุ๋ยได้มากและประสบความสำเร็จในการขายผลผลิตอย่างดี แต่ยังมีปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเพราะยังมีคนอีกหลายคนในชุมชนคิดว่า ไส้เดือนไม่สะอาด มูลไส้เดือนยิ่งไม่สะอาด
ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปุ๋ยไส้เดือนจึงถูกจัดแสดงให้ชุมชนโดยเด็กๆ ช่วยกันทำข้อมูลและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ นอกจากนั้น ครูปวีณายังทำงานเชิงรุกโดยให้นักเรียนที่ร่วมโครงการนำปุ๋ยไส้เดือนไปใช้ที่บ้าน เมื่อคนในชุมชนที่มาซื้อก็ทั้งลด-แถมให้ โรงเรียนเองก็ใช้ทั้งปลูกข้าว-ผัก และที่เป็นหัวแรงนำใช้ปุ๋ยไส้เดือนที่สำคัญที่สุดคือ ผอ. โรงเรียนบ้านตะโละมีญอ ที่ลงทุนทำสวนปาล์มถึง 100 ต้นเพื่อเป็นแปลงทดลองปุ๋ยไส้เดือน
“สวนของผมใช้ปุ๋ยไส้เดือน มีแต่คนแวะดูแวะถามว่า อาจารย์ใช้ปุ๋ยอะไร เพราะปาล์มสวนของผมต้นโตสูงแข็งแรงกว่าสวนข้างๆ ที่ปลูกพร้อมกัน” อิสเหาะ สามะเต ผอ.โรงเรียนบ้านตะโละมีญอเล่า
ขณะที่แปลงทดลองปาล์มของ ผอ.อิสเหาะโตใหญ่กว่าสวนข้างๆ ไม่ต่างกับกล้วยที่บ้านของนักเรียนหลายคนก็เครือใหญ่ลูกโต ผักในสวนหลังบ้านก็งามใบเขียวสด ข้าวในนาของโรงเรียนก็ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 25 ถัง
ผลดีของปุ๋ยไส้เดือนเป็นที่ประจักษ์ นอกจากดินดีแล้วยังเป็นปุ๋ยชีวภาพดีต่อสุขภาพ คนในชุมชนจึงนำไปใส่ในผลผลิตทุกชนิดทั้งปาล์ม ยางพารา พืชผัก และนาข้าว ทำให้ทุกวันนี้ปุ๋ยไส้เดือนของโรงเรียนบ้านตะโละมีญอไม่พอจำหน่ายและมีคิวจองยาวเหยียด
“เงินรายได้มากๆ ไม่ใช่คำตอบ กำไรสูงสุดของเราคือ เด็กมีทักษะ สร้างงานสร้างอาชีพได้ ชาวบ้านเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกการใช้เคมีมาใช้ปุ๋ยชีวภาพและเข้าสู่แนวทางเกษตรปลอดภัยมากขึ้น ชุมชนมีความสุข สุขภาพดี ซึ่งดีต่อชุมชนโดยรวมในระยะยาว” ครูปวีณา สรุปผลความสำเร็จของโครงการ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ