รมช.ศธ. กำชับ สอศ.กำกับติดตามศูนย์(ย่อย)ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะทำงานเต็มรูปแบบเท่าศูนย์ภาค
วันนี้ (17 กันยายน 2561) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ : พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561 ภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดยเป็นการตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (ศูนย์ย่อย) ในภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน1 (NEEC 1) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ ซึ่งดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ฯ ไประยะหนึ่งแล้วนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูล Big Data ในการบริหารจัดการที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบสนองการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้เป็นตามยุทธศาสตร์ของการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ จึงได้ให้มีการรายงานผลการดำเนินการที่ผ่านมา และทบทวนการทำงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในศูนย์ (ย่อย) หรือศูนย์สาขาต่าง ๆ ซึ่งใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อนำไปปรับแผนให้เหมาะสมกับบริบทต่อไป โดยภารกิจของศูนย์ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาจะต้องดำเนินการจัดการข้อมูล Big Data System ในส่วนที่เป็นฐานข้อมูลกลาง โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล ด้านDemand และSupply เพื่อวางแผนกำลังคนอาชีวศึกษา การจัดการศึกษาในหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ไปสู่การสร้างเสริมสมรรถนะผู้เรียน เข้าสู่มาตรฐานอาชีพ โดยการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ ตลอดจนการเข้าสู่การมีงานทำ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ได้มีการติดตามในเรื่องของการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อจัดระดับคุณภาพสถานศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ และอาชีวศึกษาเอกชน ให้เป็นไปตามแนวนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดให้มีการนำเสนอรายงานข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินผล 2 ครั้งต่อปีการศึกษา โดยภาพรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนจัดได้ว่าอยู่ในระดับดี และระดับดีมาก ซึ่งมีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับพอใช้เป็นส่วนน้อย และเป็นส่วนที่ สอศ. จะต้องเร่งปรับแผน เพื่อการพัฒนาให้เข้าสู่ในระดับดี หรือดีมาก โดยวันนี้ได้มีการนำเสนอรูปแบบและโครงการฯ ต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อยกระดับสถานศึกษาดังกล่าว เช่นการจัดหาบุคลากรที่มีคุณวุฒิตรงตามสาขาวิชาเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน โครงการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
ด้านดร. สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าในแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษา ได้มีการกำกับเพิ่มเติมให้สถานศึกษาที่อยู่ในระดับดี และดีมากเป็นพี่เลี้ยง โดยบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อช่วยพัฒนาสถานศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าให้ก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้น พร้อมกันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รายงานการติดตามความก้าวหน้า ในการด้านการจัดการอาชีวศึกษาเกษตร โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง รวมจำนวน 48 แห่ง ทั่วประเทศ ในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท หรือ (อศ.กช.) ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ใช้อาชีพเป็นฐาน โดยใช้กลยุทธ์ของ Best practice กลุ่มเกษตรกรเก่า ประสานความร่วมมือกับกลุ่ม young Smart Famer เพื่อเป็นต้นแบบ โครงการ อศ.กช. เป็นการศึกษาเพื่อสร้างโอกาส และการเข้าถึงการศึกษาให้แก่ประชาชนในชนบท ให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ นำไปประกอบอาชีพและมีรายได้ ทั้งในส่วนที่เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม อีกทั้งยังเป็นการขยายเป้าหมายของกลุ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปีการศึกษา พ.ศ. 2561 มีนักศึกษาโครงการ อศ.กช. รวมทั้งสิน 5,936 คน ทั้งนี้หากมีผู้สนใจเข้าศึกษาหรือเยี่ยมชมโครงการฯ สามารถสอบถามได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่งทั่วประเทศ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ