อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เจ้าของไอเดียหุ่นชาวนาและยุ้งข้าวจำลองที่ตั้งเรียงราย บนผืนนากว่า 20 ไร่ เผยเป็นการนำผลงานศิลปะมาจัดแสดงบนผืนนาเพื่อสะท้อนให้คนรุ่นหลัง ได้เล็งเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตชาวนาดั้งเดิม เพราะนาเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของคนทั่วโลก
(27 ส.ค.61) จากกรณีที่ประชาชน นักท่องเที่ยวที่ขับรถสัญจรไปมาบนถนนทางหลวงหมายเลข 226 สายบุรีรัมย์ – สุรินทร์ เกิดความสงสัยว่าทำไมจึงมีหุ่นชาวนามากกว่า 100 ตัว ยืนอยู่บนคันนาและตามจุดต่างๆ ในทุ่งนาริมถนนช่วงบริเวณบ้านสวายจีก ต.สวายจีก อ.เมืองบุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ แถมยังมียุ้งข้าวจำลองตั้งเรียงรายอยู่ด้วย โดยหุ่นชาวนาบางตัวก็ถือกระบุงใส่ข้าว และหวดที่ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียว มีผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาอดใจไม่ได้ที่จะลงไปดู พร้อมนำกล้องถ่ายรูป และโทรศัพท์มือถือ ไปเซลฟี่กับบรรดาหุ่นชาวนา และยุ้งข้าว ที่ล้อมรอบไปด้วยต้นข้าวที่กำลังเขียวขจีอย่างไม่ขาดสาย
เมื่อสอบถามชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงว่าใครเป็นเจ้าของไอเดียหุ่นชาวนา และยุ้งข้าวดังกล่าว ก็ทราบว่า เป็นอาจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ชื่อนายสุจิน สังวาลมณีเนตร อายุ 44 ปี อาจารย์สอนศิลปะ
โดยอาจารย์สุจิน ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวคิด ในการทำหุ่นชาวนา และยุ้งข้าวจำลองมาตั้งเรียงรายอยู่ในผืนนาว่า อยากนำผลงานประติกรรมที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้นมาจัดแสดง เพื่อสะท้อนให้ประชาชนคนรุ่นหลัง ได้เห็นความสำคัญของผืนแผ่นดิน โดยเฉพาะนาข้าว ที่เป็นเสมือน “อู่ข้าว อู่น้ำ” ของคนทั่วโลก ซึ่งเดิมจะทำนากันแบบเกษตรกรดั้งเดิม แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นอุตสาหกรรมการทำนา มีการค้าข้าว การส่งออก การใช้สารเคมีเร่งผลิต เพื่อมุ่งหวังเรื่องผลกำไรมากกว่า ทำให้วิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิมค่อยๆ เลือนหายไป จึงเกิดไอเดียในการทำหุ่นชาวนา และยุ้งข้าว มาจัดแสดงบนผืนนาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนหันมาเห็นความสำคัญวิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิมมากขึ้น ซึ่งผืนนาที่นำผลงานมาจัดแสดงเป็นที่นาของชาวบ้านสวายจีก
สำหรับวัสดุที่นำมาทำหุ่นชาวนา และยุ้งข้าว ก็จะเน้นของที่ได้จากท้องถิ่น เช่น ขี้ควาย ดินปลวก แกลบ ผสมกับปูน ซึ่งนอกจากหุ่นชาวนา และยุ้งข้าวแล้ว ก็จะนำประติมากรรมเมล็ดข้าวจำลองขนาดตั้งแต่ 3 – 5 เมตร มาจัดแสดงเพิ่มเติมด้วย และหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะมีจัดมุมให้สำหรับผู้คนที่สนใจได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย
หากหน่วยงานใดต้องการจะต่อยอดให้เป็นแลนด์มาร์กหรือแหล่งท่องเที่ยวก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งหลังจากได้มีประชาชน นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาชมและถ่ายรูปผลงานที่จัดแสดงบนผืนนาแห่งนี้ ก็รู้สึกภูมิใจและหวังว่าจะทำให้คนหันมาเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตชาวนามากขึ้นด้วย
อาจารย์สุจิน ยังระบุอีกว่า ส่วนงบประมาณที่นำมาสร้างสรรค์ประติมากรรมบนผืนนาแห่งนี้ สืบเนื่องจากได้รับรางวัล “ทุนสร้างสรรค์ ศิลป์ พีระศรี” ประจำปี 2561 ซึ่งหากได้รับทุนมาอีกตนก็นำมาต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ