หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดพิธีลงนามการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา”สูตรส่วนผสมและกรรมวิธีการผลิตตรีผลาผงฟู่” เพื่อการผลิตและจำหน่าย
โดย ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานลงนาม ร่วมกับ นายธนชาติ เนตรสาลิกา ผู้ประกอบการ โดยมี รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีประทีป ผู้จัดการศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.เภสัชกรหญิง รุจิลักขณ์ รัตตะรมย์ รักษาการแทนคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นพยานการลงนามในครั้งนี้
รศ.ดร.เกียรติศักดิ์เปิดเผยว่า การลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา “สูตรส่วนผสมและกรรมวิธีการผลิตตรีผลาผงฟู่” เป็นผลงานวิจัยที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา นำโดย ผศ. ดร.ประสบอร รินทอง อาจารย์ ดร.วันวิสาข์ คุณะวัฒนะกุล และคณะ ที่ทำให้เห็นถึงตัวอย่างของการทำงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
การอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือเอกชน ได้มีโอกาสนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาจากงานวิจัยของอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไปใช้ประโยชน์เพื่อก่อให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ ยังสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจหลักของศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานตามโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เครือข่ายมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
ผศ.ดร.ประสบอร รินทอง นักวิจัยกล่าวว่า ตรีผลาเป็น พิกัดยาที่ประกอบด้วยส่วนผลพืช 3 ชนิดได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม มีสรรพคุณปรับสมดุลธาตุ ช่วยล้างพิษออกจากระบบต่างๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง อีกทั้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แก้ท้องผูก ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ต้านเซลมะเร็ง กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ผศ.ดร.ประสบอร
ผลิตภัณฑ์ตรีผลาแกรนูลฟู่ (ผงฟู่) ที่เป็นผลงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบด้วย สารที่มีฤทธิ์เป็นกรดและสารในกลุ่มคาร์บอเนตหรือไบคาร์บอเนต เมื่อนำมาละลายน้ำแล้วจะเกิดปฏิกิริยาที่มีการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ช่วยเพิ่มการละลายให้กับตัวยาสำคัญ อีกทั้งยังเป็นรูปแบบยาเตรียมที่ดึงดูดความสนใจผู้บริโภค สามารถนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ได้
การอนุญาตให้ใช้สิทธิฯ ในครั้งนี้ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาได้เจรจาและมีข้อตกลงร่วมกันกับ นายธนชาติ เนตรสาริกา ผู้ประกอบการ ในการคิดมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานดังกล่าว โดยคิดเป็นค่าเปิดเผยเทคโนโลยี และค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Royalty fee) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ (Thailand Techshow) ซึ่งจะได้นำเข้าสู่กระบวนการจัดสรรผลประโยชน์ตามระเบียบฯ และประกาศฯ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ