การศึกษาถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ แต่ปัจจุบันการศึกษาอย่างเดียวไม่เพียงพอ สถาบันการศึกษาต้องติดอยู่ในอันดับสูงๆของโลก การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกกว่า 10 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดกระแสแนวทางการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กวิน วงศ์ลีดี ผู้อำนวยการสถาบันสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สะท้อนมุมมองการจัดอันดับสถาบันการศึกษามีความสำคัญแค่ไหนต่อนักศึกษายุคใหม่ และมีผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมยุค 4.0
ทำไมต้องมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัย?
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับประเทศมีมานานนับหลายทศวรรษแล้ว มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศตนเองเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับอาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาในการตัดสินใจที่จะเลือกมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นข้อมูลให้ภาครัฐและภาคเอกชนใช้ในการตัดสินใจที่จะจัดสรรทุนและสนับสนุนด้านงบประมาณ ต่อมาในปี 2546 เล่ากันว่าอาจารย์หลิวจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ได้คิดริเริ่มการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก วัตถุประสงค์เพื่อวัดความก้าวหน้าด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยของประเทศยุโรปและอเมริกา และเพื่อผลักดันความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยจีน
นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อเสนอในการจัดสรรงบประมาณสู่ภาคการศึกษา หน่วยงาน และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 องค์กร Time Higher Education (THE) จากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ จึงได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยอันดับโลกขึ้นอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งปี 2553 องค์กร Time Higher Education มีความคิดที่แตกแยกเรื่องตัวชี้วัดและน้ำหนักตัวชี้วัดจึงแตกออกมาเป็นอีกองค์กรหนึ่งเรียกว่า QS World University Rankings จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กระทั่งปัจจุบันนี้มีสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกมากถึง 40 แห่ง
วิธีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน?
เกณฑ์การวัด ตัวชี้วัดและน้ำหนักของตัวชี้วัดของการจัดอันดับแต่ละสถาบันมักจะมีข้อดีข้อเสีย จุดอ่อนจุด แข็งที่แตกต่างกันไป แต่ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การเก็บข้อมูลมีข้อบกพร่องน้อยลง โดยธรรมชาติของการจัดอันดับโลกทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีชื่อเสียงมาช้านานมักจะได้เปรียบ เพราะเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศและทั่วโลก มีศิษย์เก่ามากมายทั่วโลก อีกทั้งมหาวิทยาลัยใหญ่ๆที่มาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการเรียนการสอนและการทำงานวิจัย เช่น สหรัฐฯ,อังกฤษ และออสเตรเลีย มักจะมีความได้เปรียบสูงเนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ใช่เป็นเพียงภาษาธุรกิจที่ใช้กันทั่วโลก ยังเป็นภาษาสากลของนักวิจัย และนักวิชาการทั่วโลก
โดยมหาวิทยาลัยที่ใช้การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ หรือมหาวิทยาลัยระดับประเทศที่มีสาขาวิชานานาชาติและใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนและการทำวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ จึงมีความได้เปรียบกว่ามหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาของตนเอง ขณะที่มหาวิทยาลัยที่เน้นคณะแพทย์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์จะมีความได้เปรียบในด้านผลงานวิจัย การอ้างอิงผลงานวิจัย และทุนวิจัยมากกว่ามหาวิทยาลัยที่เน้นด้านสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ และศิลปศาสตร์ เป็นต้น
โอกาสของมหาวิทยาลัยที่ได้รับจากอันดับโลก?
ปัจจุบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นเรื่องสำคัญและมีอิทธิพลต่อมหาวิทยาลัย นักเรียน อาจารย์ และนักการศึกษาทั่วโลกแล้วไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราก็จะถูกจัดอันดับไปโดยอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับสูงๆจะเป็นหน้าเป็นตาเป็นเกียรติแก่ประเทศนั้นๆว่า มีความก้าวหน้าด้านการศึกษาระดับโลก ดังนั้นมหาวิทยาลัยในทวีปเอเซียเช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน,สิงคโปร์,ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงมีการสนับสนุนด้านงบประมาณและผลักดันอย่างจริงจังให้มหาวิทยาลัยจากประเทศตนให้ติดอันดับ 1-100
ส่วนในประเทศอาเซียน นอกจากสิงคโปร์แล้วประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีการตื่นตัวอย่างสูงและมีความพร้อมที่จะผลักดันการจัดอันดับเป็นอย่างสูง ส่วนประเทศไทยมีการตื่นตัวพอสมควรแต่ยังไม่มีการแข่งขันที่รุนแรงหรือนโยบายที่ชัดเจน ประเทศส่วนใหญ่ที่พัฒนาแล้วใช้การจัดอันดับโลกเป็น Benchmark หรือเป็นตัววัดในการแข่งขันพัฒนามหาวิทยาลัยตนเองให้สู่อันดับที่สูงขึ้น หรือพัฒนาคณะและสาขาที่มหาวิทยาลัยมีความโดดแด่น เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณและทุนการศึกษา อันดับมหาวิทยาลัยโลกกลายเป็นตัวเลือกในด้านการศึกษา ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับสูงๆ จะถูกเลือกโดยนักศึกษาเก่งๆ ผลของการจัดอันดับจะเกิดเป็นจุดขายเป็นที่สำคัญและเป็นจุดแข็งในการแข่งขันด้านการตลาดในยุคโลกาภิวัฒน์
การจัดอันดับตอบโจทย์อุตสาหกรรมจริงหรือ?
ปัจจุบันนี้มีสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกมากถึง 40 แห่ง แต่ว่ามีเพียง 3 แห่งที่มีอิทธิพลสูงและได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งแต่ละสถาบันก็เน้นตัวชี้วัดและน้ำหนักตัวชี้วัดที่แตกต่างกันไปคือ 1.Academic Ranking of World Universities (ARWU)เป็นการจัดอันดับโลกของกลุ่มจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เก่า ซึ่งจะเน้นตัวชี้วัดที่สามารถวัดได้อย่างจริงจังจากการเรียนและผลงานวิจัย ไม่เน้นสำรวจความคิดเห็น แต่เน้นรางวัลระดับนานาชาติและระดับโลก 2.Time Higher Education (THE)เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกซึ่งใช้ตัวชี้วัดจากการสำรวจความคิดเห็น 30% ผสมผสานกับการเรียนการสอน ผลงานวิจัยและการอ้างอิงผลงานวิจัยระดับสูง 3.QS World University Rankings (QS) เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยวิธีการสำรวจความคิดเห็นมหาวิทยาลัยดีเด่นและสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการหรือผู้จ้างงาน จากกลุ่มตัวอย่างทั่วโลก โดยให้น้ำหนักในส่วนนี้มากถึง 50% ของตัวชี้วัดทั้งหมด ผสมกับงานวิจัย การอ้างอิงงานวิจัย สัดส่วนของอาจารย์ต่างชาติและนักเรียนต่างชาติ จึงกล่าวได้ว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่สร้างการยอมรับเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุคใหม่อย่างแท้จริง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ