อาชีพผู้ประเมินทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ เป็นอาชีพที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนและทดสอบจนเกิดความชำนาญ
การอบรมและฝึกฝนนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้บกพร่องทางการมองเห็นในการเป็นผู้ประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์อาหาร
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับสนับสนุนการเก็บข้อมูลเพื่อความสะดวก และรวดเร็วด้วยแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้การทดลองทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2558
ผศ.ดร. ธิติมา วงษ์ชีรี ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และคณะ ได้ร่วมกันคัดเลือกตามขั้นตอนได้ผู้บกพร่องทางการเห็นที่เข้าอบรม 14 คน เข้ารับการฝึกฝนการทดสอบผลิตภัณฑ์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) กับผลิตภัณฑ์อาหารและขนมขบเคี้ยว ทดสอบประสิทธิภาพในการรับรสเพื่อทดสอบความสามารถทางด้านความถูกต้อง (Accuracy) และการทดสอบซ้ำ (Repeatability) ใช้เวลาอบรมรวม 150 ชั่วโมง
พบว่าผู้บกพร่องทางการเห็นมีศักยภาพในการให้โปรไฟล์ผลิตภัณฑ์แบบจัดกลุ่มได้ดีกว่าผู้ทดสอบที่มีสายตาปกติ ส่วนการทดสอบคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางประสาทสัมผัสเชิงพรรณนาแบบ universal reference system มีศักยภาพเทียบเท่ากับผู้ทดสอบที่มีสายตาปกติ
อีกทั้งได้พัฒนาต่อยอดการฝึกฝนการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร เพื่อสามารถพัฒนาเป็นอาชีพของผู้บกพร่องทางการมองเห็นให้มีความหลากหลาย โดยได้รับทุน การจัดการองค์ความรู้ด้านการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส เพื่อการถ่ายทอดให้เยาวชนที่บกพร่องทางการมองเห็น จาก วช. อีกครั้ง ในปีงบประมาณ 2561
การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการทดสอบประสาทสัมผัสโดยการสัมผัส ได้แก่ เรียนรู้คุณลักษณะเบื้องต้นโดยการสัมผัส เรียนรู้และฝึกฝนคุณลักษณะเบื้องต้น โดยการสัมผัสของพลาสติก เรียนรู้และฝึกฝนคุณลักษณะเบื้องต้น และยังมีการอบรมการทดสอบประสาทสัมผัสทางด้านกลิ่น ได้แก่ เรียนรู้โครงสร้างของกลิ่น เรียนรู้ลักษณะของกลิ่นประเภทต่างๆ เรียนรู้การผสมกลิ่นจากสารสกัดหอมระเหย และกาแฟ โดยการสนับสนุนของ สายวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด เพอร์ฟูมเมอร์สเวิลด์ ดอนเมือง กรุงเทพฯ
ภายหลังการอบรมผู้บกพร่องทางการมองเห็นมีคุณสมบัติในการเป็นนักผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัสเชิงพรรณนา เข้าใจขั้นตอนการทดสอบและหลักการในห้องปฏิบัติการเป็นอย่างดี จึงวางแผนที่จะพัฒนาเป็นครูผู้สอนและสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพที่ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้กับเยาวชนผู้บกพร่องทางการเห็นในโรงเรียนสอนคนตาบอด สมาชิกชมรมผู้บกพร่องทางการเห็น ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ