อีกนวัตกรรมของเยาวชนไทยไอเดียดีๆ ที่เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัว กระทั่งกลายเป็นโปรเจ็กต์จบ และต่อยอดกลายเป็นธุรกิจ เป็นเจ้าของบริษัทตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
น.ส.กาญจน์ภัทร เกรียงไกร ว่าที่บัณฑิตสาขาวิชาสารสนเทศการลงทุน วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิตเผยถึงการพัฒนาWeb-Application “GateMT” เกิดจากคนใกล้ตัวที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เวลาจะไปพบคุณหมอแต่ละครั้งต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
ดังนั้น เลยถามไปยังกลุ่มเพื่อนว่ามีใครพอจะแนะนำนักเทคนิคการแพทย์เพื่อมาเจาะเลือดผู้ป่วยที่บ้านได้บ้าง เพื่อนก็ให้คำแนะนำ จากข้อจำกัดนี้ทำให้เกิดไอเดียพัฒนา Web-Applicationเพื่อเป็นศูนย์กลางจัดหานักเทคนิคการแพทย์ไปเจาะเลือดผู้ป่วยที่บ้าน บวกกับได้เรียนสาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ พอไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาก็เห็นด้วยและสนับสนุนให้พัฒนาWeb-Application “GateMT” ขึ้นมา
เริ่มจากการศึกษาจำนวนประชากร พบว่าผู้สูงอายุในไทยมี 11.7 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และผู้ป่วยสูงอายุอีกจำนวนมากที่ต้องมารับบริการตรวจเลือดในโรงพยาบาล ซึ่งการเดินทางมาโรงพยาบาลแต่ละครั้งค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้บริการรถพยาบาลค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างสูง จึงเกิดแนวคิดพัฒนาWeb-Application ให้บริการนักเทคนิคการแพทย์ไปเจาะเลือดผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อสาธารณชน
สำหรับการให้บริการของ Web-Application “GateMT” จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยในการจัดหานักเทคนิคการแพทย์มาเจาะเลือดผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน โดยที่ผู้ป่วยต้องมีใบ Request จากแพทย์หรือจากความประสงค์ของผู้ป่วยเอง มีขั้นตอนรับบริการ ดังนี้
1.ญาติหรือผู้ป่วยลงทะเบียนเพื่อขอรับบริการ 2.ระบบจะนัดนักเทคนิคการแพทย์ (ในพื้นที่ใกล้เคียง) ที่สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ โดยนักเทคนิคการแพทย์จะต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์และลงทะเบียนไว้กับบริษัท (สามารถตรวจสอบได้)
3.ระบบจะเลือกสถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการที่ลงทะเบียนไว้และสามารถรับผลการตรวจวิเคราะห์ได้ 4.นักเทคนิคการแพทย์ให้บริการเจาะเลือดหรือเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ ณ ที่อยู่ของท่าน 5.นักเทคนิคการแพทย์ส่งตัวอย่างไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการหรือสถานพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง
6.สถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการส่งผลตรวจวินิจฉัยเข้าในระบบ โดยผู้รับบริการสามารถตรวจสอบผลผ่านระบบออนไลน์ได้ทันดี นอกจากนี้ ญาติผู้ป่วยยังสามารถตรวจสอบขั้นตอนการทำงานต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย และอัตราค่าบริการตามระยะทาง เป็นต้น
ระหว่างพัฒนา Web-Application “GateMT” ตรงกับโครงการ “Startup Thailand 2018” จึงเสนอไอเดียเข้าประกวดและผ่านคัดเลือกได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย 50,000 บาท ทำให้มีกำลังใจพัฒนา Web-Application ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้ส่งผลงานเข้าประกวด โครงการ “smart SMEs Smart Start up” ของธนาคารออมสิน ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย 132,500 บาท และส่งผลงานเข้าประกวดนวัตกรรมซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพ ก.สาธารณสุข โครงการ “ICT Innovation for eHealth” ได้รับรางวัลนวัตกรรมดี รับเงินทุนสนับสนุน 20,000 บาท และกำลังส่งเข้าร่วมโครงการ ”Bangkok InnoHub” บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด เป็นต้น
ขณะนี้ Web-Application “GateMT” ได้จดทะเบียนในชื่อ บริษัท iMind โดยร่วมกับพันธมิตรคือ บริษัทiApp Technology พัฒนา Web-Application ให้สมบูรณ์แบบตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานและเพื่อความปลอดภัย
“เวที Startup นอกจากจะสนับสนุนทุนพัฒนานวัตกรรม ยังสอนให้ทำงานร่วมกัน สอนกระบวนการบริหารจัดการ การนำเสนอผลงานทั้งต่อคณะกรรมการและลูกค้า สอนให้ทำงานเป็นตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญมากสำหรับเราทำให้มั่นใจได้ว่า สิ่งที่เราคิดสามารถทำให้เป็นจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถเป็นเจ้าของบริษัทตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ” น.ส.กาญจน์ภัทร กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ